พลังงาน ยันเปิดยื่นบิดดิ้งเอราวัณ-บงกช 25 ก.ย.นี้

พลังงาน ยันเปิดยื่นบิดดิ้งเอราวัณ-บงกช 25 ก.ย.นี้

“พลังงาน” ยันเดินหน้าเปิดยื่นประมูลแข่งขัน 2 แหล่งก๊าซ เอราวัณและบงกช ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ตามกำหนดการเดิม แม้มีกลุ่มคัดค้าน ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องศาลปกครอง เอาผิดคณะกรรมการปิโตรเลียม ออกระเบียบขัดกฎหมายปิดกั้นทางเลือกใช้ระบบสัญญาจ้างผลิต

นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ยังคงเดินหน้า เปิดให้ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ(บิดดิ้ง) สำหรับผู้สนใจร่วมประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(แหล่งเอราวัณ) และ G2/61(แหล่งบงกช) ในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) พร้อมเอกสารแสดงคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 แห่ง พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ในวันที่ 25 กันยายนนี้ ตามกำหนดการที่วางไว้ แม้ว่าจะมีกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเอาผิดคณะกรรมการปิโตรเลียม ในประเด็นมีการพิจารณาออกระเบียบและวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั่วประเทศ โดยไม่มีระบบระบบสัญญาจ้างผลิต(SC) นั้น

ขณะนี้ ศาลยังไม่มีการประทับรับคำฟ้องแต่อย่างใด และได้มีคำสั่งให้กระทรวงพลังงานไปชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่ง กระทรวงพลังงานได้ขอเลื่อนระยะเวลาในการชี้แจงข้อมูลต่อศาลออกไปก่อน เพื่อขอเวลาจัดเตรียมเอกสารและข้อมูลต่างๆให้ครบถ้วน

ทั้งนี้ การที่กรมเชื้อเพลิงฯ กำหนดให้เปิดประมูลปิโตรเลียม โดยแหล่งเอราวัณและบงกช ภายใต้ระบบ PSC นั้น ถือว่าเป็นไปตามการประเมินปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่เหลืออยู่ ซึ่งเป็นข้อมูลในเชิงเทคนิคที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ และอดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) ด้านพลังงาน กล่าวว่า ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อเอาผิดกับคณะกรรมการปิโตรเลียม ที่ไม่ทำตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2560 ที่เปิดกว้างในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไว้ 3 ระบบ โดยกฎหมายฉบับใหม่ได้ เพิ่มทางเลือกในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอีก 2 รูปแบบ คือ ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) และระบบ SC จากเดิมที่มีเพิ่งระบบสัญญาสัมปทาน

แต่คณะกรรมการปิโตรเลียม กับมีการออกระเบียบและวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั่วประเทศ ที่มองว่า นำไปสู่การจำกัดทางเลือกในการเปิดประมูลปิโตรเลียม โดยไม่ได้กำหนดให้มีการใช้ระบบสัญญาจ้างผลิต(SC)

“ขณะนี้ ยังรอการพิจาณาจากศาลว่าจะประทับรับคำฟ้องหรือไม่ ซึ่งเป็นการยื่นฟ้องของมูลนิธิฯ และมีตน กับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และน.ส.บุญยืน ศิริธรรม เป็นผู้ยื่นฟ้องร่วม ส่วนการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช ในวันที่ 25 กันยายนนี้ จะมีการเคลื่อนไหวหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของมูลนิธิฯที่จะตัดสินใจ” น.ส.รสนา กล่าว

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvantanaranabala เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561 โดยระบุว่า ประมูลเอราวัณและบงกช ยังมีปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เคลียร์ กระทรวงพลังงาน จึงควรจะชะลอการให้เอกชนยื่นข้อเสนอไว้ก่อน ดังนั้น จึงควรเลื่อนกำหนด 25 กันยายน 2561 ออกไปก่อน