กอปภ.ก. ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย

กอปภ.ก. ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย

กอปภ.ก. ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย ดินโคลนถล่ม และคลื่นลมแรง จากพายุโซนร้อนมังคุด ในช่วงวันที่ 17 – 20 ก.ย. 61

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักจากพายุดีโซนร้อน "มังคุด" (MANGKHUT) ในช่วงวันที่ 17 – 20 กันยายน 2561 อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม และคลื่นลมแรง โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมด้านสรรพกำลังและเครื่องจักรกลสาธารณภัย รวมถึงจัดชุดเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนจัดชุดเคลื่อนที่เร็วประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลขอให้งดการเดินเรือในระยะนี้

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีโซนร้อน "มังคุด" (MANGKHUT) บริเวณประเทศจีนตอนใต้ คาดว่าจะอ่อนกำลังลง และจะเคลื่อนตัวเข้าสู่เขตมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยใน 2 ลักษณะ ได้แก่ ช่วงวันที่ 17 – 19 กันยายน 2561ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักเกิดขึ้นได้ ช่วงวันที่ 17 – 20 กันยายน 2561 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 – 4 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร

กอปภ.ก.จึงได้สั่งการจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักในหลายพื้นที่ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมใช้งาน กรณีเกิดสถานการณ์ภัยในพื้นที่ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำจุดเสี่ยงภัยตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของจังหวัด เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนและพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง ให้จัดเจ้าหน้าที่ เรือ รถยกสูง อำนวยความสะดวกในการสัญจรแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ขอให้งดการเดินเรือในระยะนี้

ทั้งนี้ สามารถติดต่อแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป