'250ส.ว.' หนึ่งตัวแปร อุ้ม 'ประยุทธ์' นั่งนายกฯ

'250ส.ว.' หนึ่งตัวแปร อุ้ม 'ประยุทธ์' นั่งนายกฯ

เจาะประเด็นร้อน "250ส.ว." หนึ่งตัวแปร อุ้ม "ประยุทธ์" นั่งนายกฯ

ในขณะที่โหมดการเมืองกำลังคึกคักในช่วง “คลายล็อก” 90 วัน อีกหนึ่งด้านยังมีความเคลื่อนไหว นั่นคือกระบวนการได้มาซึ่ง “สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)” จำนวน 250 คน ที่เริ่มนับหนึ่งภายหลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้

มาตรา 90 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ระบุให้ในวาระเริ่มแรก หรือ “5 ปีนับจากกฎหมายมีผลบังคับใช้” ให้วุฒิสภาประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ โดยมาจาก 3 ส่วนคือ ส่วนแรก ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรรหา 10 กลุ่มอาชีพ ให้ได้ 200 คน ก่อนส่งให้ คสช. เคาะเหลือ 50 คน

ส่วนที่ 2 ให้คณะกรรมการสรรหา (ตั้งโดย คสช.) คัดเลือกบุคคลไม่เกิน 400 คน เสนอให้ คสช. เคาะเหลือ 194 คน ส่วนที่ 3 อีกจำนวน 6 คนมาจากปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่จะเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง

เท่ากับว่า ส.ว. ทั้งหมด หรือที่เรียกว่า “ชุดเปลี่ยนผ่าน” จะมีที่มาจากที่เดียวกันนั่นคือ “คสช." และจะเป็นตัวแปรสำคัญในการ “ปูทาง” ให้ “บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กลับคืนเก้าอี้ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล (ห้องทำงานประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) อีกครั้ง

เพราะทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกฉบับปัจจุบัน ได้ให้อำนาจ “สภาสูง” ที่ต่างไปจากเดิม คือนอกจากจะมีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายแล้ว พวกเขาทั้ง 250 คน ยังมีภารกิจในการ “ร่วมโหวต” เลือกนายกฯ ได้อีกด้วย

ซึ่งการได้มาซึ่งนายกฯ มีทั้งจากบัญชีรายชื่อพรรค 3 รายชื่อ ที่ประกาศรายชื่อให้ประชาชนได้รับทราบในวันเลือกตั้ง และนายกฯ คนนอก ในกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีพรรคได้ โดยสมาชิก 2 สภา (ส.ส.และ ส.ว.) เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อมติยกเว้นการเสนอรายชื่อพรรค และใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือตั้งแต่ 501 เสียงจากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 750 เสียง

ดังนั้น ทั้ง 250 คนที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. จึงถือเป็นตัวแปรสำคัญในการอุ้ม “พล.ประยุทธ์” นั่งเก้าอี้นายกฯ อีกหนึ่งสมัย!!