วอล์กเกอร์อัจฉริยะ เข้าถึงง่ายขายได้จริง

วอล์กเกอร์อัจฉริยะ เข้าถึงง่ายขายได้จริง

เครื่องช่วยเดินอัจฉริยะสามารถปรับระดับความสูง ติดเซนเซอร์ตรวจจับระยะห่างระหว่างเครื่องกับผู้ใช้พร้อมระบบเบรกเพื่อความปลอดภัยและสามารถพับเก็บได้ด้วย ออกแบบช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยใช้งานได้สะดวกสบาย

ผลงานโดยนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว คว้า 2 รางวัลจากเวทีนานาชาติ i-CREATe 2018 

“กรรมการที่เซี่ยงไฮ้ให้ความสนใจสิ่งประดิษฐ์ของเรามาก แม้ตัวเทคโนโลยีไม่ล้ำสมัยเหมือนชิ้นงานจากสิงคโปร์และจีน แต่ข้อดีของเราคือ ตอบความต้องการของผู้ใช้ที่เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัดได้อย่างแท้จริง” เฟื่องลดา สาลีบุตร ผู้ร่วมพัฒนา กล่าว

ไอเดียเพื่อผู้สูงอายุ

เครื่องช่วยเดินอัจฉริยะ “Automatic Walker for the Elderly using by Microcontroller” น้ำหนัก 5 กิโลกรัมนี้ พัฒนาต่อยอดจากอุปกรณ์วอล์กเกอร์ของรุ่นพี่ ปวส.ที่จบการศึกษาไปแล้ว เพื่อที่จะนำไปประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่หรือสุดยอดสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาปี 2559 ซึ่งก็ได้รับรางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ

วอล์กเกอร์เวอร์ชั่นแรกไม่มีเบรก ทีมงานเขียนวงจรไมโครคอนโทรลเลอร์เพื่อควบคุมการทำงาน จากนั้นเพิ่มเซนเซอร์ 2 ตัวสำหรับตรวจจับระยะห่างระหว่างเครื่องกับผู้ใช้ ที่หากใกล้มากเกินไป เครื่องก็จะเลื่อนออกและเลื่อนเข้าอัตโนมัติเมื่อระยะห่างไกลเกินไป และเซนเซอร์แอลดีอาร์ตรวจจับที่มือจับ หากมือเคลื่อนจากที่จับ ระบบเบรกจะทำงาน เพื่อให้เครื่องช่วยเดินหยุดนิ่งกับที่

นอกจากนี้ยังออกแบบโครงสร้างใหม่ให้สามารถพับเก็บได้ แล้วนำไปทดสอบที่บ้านพักคนชราที่วังน้ำเย็น ต่อมาเมื่อมีโอกาสเข้าร่วมในงานประชุมวิชาการนานาชาติวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (i-CREATe ) ครั้งที่ 12 ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

เครื่องช่วยเดินอัจฉริยะนี้ก็ได้รับรางวัลประเภทผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ 2 รางวัลคือ รางวัลเหรียญทองและรางวัลความเป็นไปได้ทางการตลาดดีเด่น ขณะเดียวกันกรรมการได้แนะนำในเรื่องการออกแบบที่ต้องปรับให้มีความเป็นสากล แข็งแรงทนทานขึ้นและทำต้นทุนให้ถูกลง

ทั้งนี้ การประกวด i-CREATe แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์และผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรม ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลงาน EZ Stand Walker อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดข้อเข่า ข้อสะโพก ที่มีปัญหาด้านการลุกยืนให้สามารถลุกยืนได้ง่าย โดยอุปกรณ์ถูกออกแบบมาให้ครบทั้งการใช้งานที่จำเป็นทั้ง 2 ฟังก์ชัน คือ ช่วยลุกยืนและพยุงการเดิน

ในอนาคตทีมนักศึกษา EZ Stand Walker ยังมีแผนการที่จะพัฒนาผลงานในเรื่องของน้ำหนัก การพับขึ้นรถยนต์และการปรับส่วนสูงของมือจับ เพื่อที่จะสามารถใช้งานได้จริงอีกด้วย

กลไกสนับสนุนสิ่งประดิษฐ์ไทย

ในงานประชุมวิชาการนานาชาติฯ ผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาไทยได้รับรางวัลทั้งสิ้น 8 รางวัล จากทั้งหมด 25 รางวัล ศ.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า จากปี 2550 จนถึงปัจจุบัน มีผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาไทยได้รับรางวัลจากเวทีนี้รวม 60 ผลงาน โดยมีการต่อยอดสู่ธุรกิจนวัตกรรม 10 บริษัท และมี 5 บริษัทที่สามารถสร้างรายได้แล้ว

“ปัญหาหลักของการต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์สู่เชิงพาณิชย์คือ มาตรฐานรองรับที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เราจึงจะจับมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการใช้กลไกการสนับสนุนผ่านโครงการดำเนินกิจกรรมผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (Research Gap Fund-TED Fund)”

ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กลไกการสนับสนุนนี้จะดำเนินการผ่านแก็ปฟันด์ (Gap Fund) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะดึงเม็ดเงินมาจากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund ปีงบ 2562 จำนวน 80 ล้านบาทสำหรับสนับสนุน 80 โครงการ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักประดิษฐ์จากเวที i-CREATe สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากเม็ดเงินนี้ ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เกิดการลงทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อเปิดตลาดภาครัฐอีกด้วย