ปชช.80%เห็นด้วย เบิกเป็นเงินสดจาก 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ'

ปชช.80%เห็นด้วย เบิกเป็นเงินสดจาก 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ'

นิด้าโพล เผยปชช.80%เห็นด้วย เบิกเป็นเงินสดจาก "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" แต่กว่า 68% ชี้ไม่สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ? ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11 – 12 กันยายน 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ทางรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นรายละ 100 – 200 บาท และสามารถเบิกเงินสดไปใช้ได้เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random  Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 จากการสำรวจเมื่อถามถึงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสิทธิจาก “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ของรัฐบาล พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.60 ระบุว่า ไม่ได้ลงทะเบียน และร้อยละ 34.40 ระบุว่า ลงทะเบียน

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเพิ่มเงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” โดยสามารถเบิกเป็นเงินสดเพื่อนำไปชำระค่าบริการอื่น ๆ ได้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.84 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยจะได้นำเงินมาใช้จ่ายใน  ส่วนอื่นที่ไม่สามารถใช้บัตรสวัสดิการซื้อได้ และยังมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 17.80 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด สามารถแก้ได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้น และร้อยละ 1.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงการเพิ่มเงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ในระดับใด พบว่า ประชาชน ร้อยละ 12.53 ระบุว่า สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มาก ร้อยละ 32.08 ระบุว่า สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ค่อนข้างมาก ร้อยละ 25.30 ระบุว่า สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ค่อนข้างน้อย ร้อยละ 14.92 ระบุว่า สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้น้อย ร้อยละ 13.73 ระบุว่า ไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้เลย และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จะสามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ระหว่างคนรวย/คนจน ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ได้หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.08 ระบุว่า ไม่สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เพราะ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ช่วยเหลือได้เพียงเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่มีแนวทางใดที่จะสามารถมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ     ลงได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ผู้ลงทะเบียนบางส่วนไม่ใช่คนจนจริง ๆ รองลงมา ร้อยละ 28.89 ระบุว่า สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เพราะ เป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่คนจนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง และทำให้ปัญหาความยากจนลดลง และร้อยละ 3.03 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ 

เมื่อถามถึงว่าอยากเสนอให้รัฐบาลเพิ่มสวัสดิการในด้านใดบ้าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.73 ระบุว่า ค่ารักษาพยาบาลรองลงมา ร้อยละ 38.71 ระบุว่า การช่วยเหลืออาชีพด้านเกษตรกรรม ร้อยละ 36.31 ระบุว่า เงินส่งเสริมผู้สูงอายุ/ผู้เกษียณอายุ ร้อยละ 25.94   ระบุว่า ช่วยเหลือการสร้างอาชีพ ร้อยละ 23.78 ระบุว่า ค่าการศึกษา/ค่าเล่าเรียน/ทุนการศึกษาบุตร ร้อยละ 20.35 ระบุว่า ค่าสาธารณูปโภค      เช่น ไฟฟ้า ประปา ระบบขนส่งมวลชน ร้อยละ 10.77 ระบุว่า สวัสดิการสำหรับผู้พิการ ร้อยละ 9.02 ระบุว่า สวัสดิการสำหรับลูกจ้างรายวัน/ ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 4.71 ระบุว่า จ่ายคืนหนี้ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นต้น ร้อยละ 0.64 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ จัดสรรที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับผู้ยากจน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่มีข้อเสนอให้รัฐบาล เพิ่มสวัสดิการ และร้อยละ 2.71 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึง  “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” แตกต่างจาก “นโยบายประชานิยม” หรือไม่ พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.00 ระบุว่า ไม่แตกต่าง เพราะ มีแนวทางในการแก้ไข ช่วยเหลือ ปัญหาความยากจนเหมือนกัน แค่ใช้ชื่อเรียกที่ต่างกัน รองลงมา ร้อยละ 24.02 ระบุว่า แตกต่าง เพราะ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยเพียงอย่างเดียว และร้อยละ 9.98 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ