เตือน! ใต้ฝุ่น 'มังคุด' ทำฝนตกหนัก 48 จังหวัด 17 -18 ก.ย.นี้

เตือน! ใต้ฝุ่น 'มังคุด' ทำฝนตกหนัก 48 จังหวัด 17 -18 ก.ย.นี้

ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวฯ จับตาใต้ฝุ่น "มังคุด" ส่งผลไทยมีฝนตกหนัก 48 จังหวัด 17 -18 ก.ย.นี้ เตือนลุ่มน้ำอีสานตอนบน ตะวันออก กลาง น้ำล้นตลิ่ง

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยว่าเมื่อเวลา 19.00 น. วานนี้ พายุดีเปรสชัน “บารีจัต” ได้สลายตัวแล้ว ยังเหลือไต้ฝุ่น “มังคุด"จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศจีนตอนใต้และอ่อนกำลังลงตามลำดับ คาดว่าจะมีฝนเพิ่มขึ้นในภาคเหนือและอีสานตอนบน จะมีฝนหนักบางแห่งระหว่างวันนที่ 17 -18 ก.ย. 61 และส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้แรงขึ้น ทำให้ด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางพื้นที่

สำหรับบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม ให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดมีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก 48 จังหวัด เช่น เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี

กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรสาคร นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง มีฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากสูงสุดที่ จ.อุบลราชธานี 202 มม. จ.ศรีสะเกษ 115 มม. ปราจีนบุรี 95 มม. อุดรธานี 94 มม.กำแพงเพชร 91 มม. ลำพูน 70 มม. กรุงเทพมหานคร 60 มม. เป็นต้น

นายสำเริง กล่าวว่า เขื่อนใหญ่มีน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มี 6 แห่ง พบว่ามีน้ำไหลเข้ายังน้อยกว่าระบายออก เช่น เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีน้ำ 104% เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 99% ไม่มีน้ำล้นสปิลเวย์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี คิดเป็น 92% เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก คิดเป็น 86% และเริ่มลดการระบายน้ำ ให้ติดตามสภาพฝนด้วยปรับแผนการระบายน้ำแจ้งพื้นที่รับน้ำรับทราบ เขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี 89%

ขณะนี้มีอิทธิพลพายุไต้ฝุ่นมังคุด ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ยังมีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งในแม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร อ.เซกา จ.บึงกาฬ แนวโน้มลดลงตามการลดลงของแม่น้ำโขง ห้วยหลวง จ.อุดรธานี ลดลง ห้วยคะนานหลง ต.นาสี อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เพิ่มขึ้น

ส่วนภาคตะวันออก มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งในแม่น้ำนครนายก อ.องครักษ์ จ.นครนายก ยังทรงตัว แม่น้ำปราจีนบุรี อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี ลดลง แม่น้ำบางปะกง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ระดับน้ำทรงตัว และภาคกลาง มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งริมแม่น้ำป่าสัก อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี