สอบชั้นต้น 'ชำนาญ' ศาลฎีกาถูกร้องประมวลจริยธรรม

สอบชั้นต้น 'ชำนาญ' ศาลฎีกาถูกร้องประมวลจริยธรรม

"ปธ.แผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา" ถูกสอบเหตุร้องประพฤติตนไม่เหมาะกลางศาลฉะเชิงเทรา ส่วนผู้พิพากษา 1,735 คน เสนอถอดถอนพ้นหน้าที่ ก.ต.ฎีกา แทรกแซงหน้าที่ศาลชั้นต้น 18

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 จากกรณีที่ตลอดช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้พิพากษา 1,735 คน ร่วมลงรายชื่อเสนอให้ถอดถอน "นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์" ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา และที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิในศาลฎีกา ให้พ้นจากตำแหน่ง ก.ต.ชั้นฎีกา ด้วยข้อกล่าวหาส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย คุณธรรมและจริยธรรม หรือการกระทำที่น่าสงสัยว่ากระทำผิดวินัย มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต. จากกรณีที่อ้างถึงการแทรกแซงผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขณะสืบพยานในบัลลังก์ซึ่งตนไม่ใช่คู่ความในคดีและการแสดงกิริยาไม่เคารพกระบวนพิจารณาของศาล กับแสดงตนเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าข่มขู่ผู้พิพากษาที่กำลังปฏิบัติหน้าที่นั้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอตรวจสอบรายชื่อผู้พิพากษากว่า 1,700 คน

ล่าสุด ในการประชุม ก.ต.ครั้งที่ 16/2561 เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา "ที่ประชุม ก.ต." ได้มีมติให้ดำเนินสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้น กับ "นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์" ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 68 ที่ว่า "เมื่อข้าราชการในศาลใด ถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัยให้ข้าราชการตุลาการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในงานศาลยุติธรรมนั้น ดำเนินการให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นโดยไม่ชักช้า ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ต.กำหนด โดย ม.68 วรรคสอง ระบุว่า วิธีการสอบสวนข้อดท็จจริงในชั้นต้นจะทำโดยให้ผู้เกี่ยวข้องชี้เรื่องราวเป็นหนังสือ หรือโดยบันทึกเรื่องราวและความเห็น หรือโดยตั้งคณะบุคคลขึ้นสอบสวนข้อเท็จจริงก็ได้ ) ซึ่งกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นนี้ คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 30 วัน

โดยกรณีที่ ก.ต.มีมติดังกล่าว สืบเนื่องจากมีการร้องเรียนจากคู่ความในคดีที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ขณะที่ ก.ต.ได้รับทราบการรายงานข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากฝ่ายผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ในช่วงการพิจารณาความเหมาะสมวาระโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการตุลาการทั่วประเทศ เมื่อช่วง ก.ค.- ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งการสั่งสอบข้อเท็จจริงชั้นต้นกับนายชำนาญ ของ ก.ต.นี้ เกี่ยวกับการรักษาวินัยของผู้พิพากษา ซึ่งขณะเกิดเหตุร้องเรียนนายชำนาญ ดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา

ส่วนกรณีที่มีผู้พิพากษาส่วนใหญ่ในศาลชั้นต้นและบางส่วนจากศาลสูงระดับอุทธรณ์-ฎีกา และกับผู้พิพากษาอาวุโส 1,735 รายชื่อ โดยนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 (ภาคตะวันออก) , นายพงษ์ศักดิ์ ตระกูลศิลป์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และ น.ส.มณี สุขผล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นผู้แทน ยื่นเรื่องเสนอต่อ "เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม" เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ลงมติถอดถอน "นายชำนาญ" จากการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต.ชั้นฎีกา (ก.ต.ชั้นฎีกา เป็นกระบวนการที่ได้รับเลือกมาจากการลงคะแนนเลือกของผู้พิพากษาศาลฎีกาตามขั้นตอน) ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 42 นั้น

ด้วยข้อกล่าวหาส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย คุณธรรมและจริยธรรม หรือการกระทำที่น่าสงสัยว่ากระทำผิดวินัย มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต. จากกรณีที่อ้างถึงการแทรกแซงผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขณะสืบพยานในบัลลังก์ซึ่งตนไม่ใช่คู่ความในคดีและการแสดงกิริยาไม่เคารพกระบวนพิจารณาของศาล กับแสดงตนเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าข่มขู่ผู้พิพากษาที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ซึ่งกระบวนการอยู่ระหว่าง ตรวจสอบรายชื่อผู้พิพากษาประสงค์เสนอถอดถอนนายชำนาญ ที่จะครบในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เวลา 16.30 น. (ครบกำหนด 20 วันนับแต่วันติดประกาศรายชื่อและคำร้องที่ระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวให้ทราบ ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา) ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนในจำนวนและรายชื่อผู้พิพากษา 1,735 คนว่ามีใครคัดค้านเรื่องการลงชื่อหรือถอนตัวจากการเสนอถอดถอนหรือไม่ หากไม่มีก็จะถือว่ารายชื่อสมบูรณ์ ครบจำนวนตามเกณฑ์คือ 1 ใน 5 ของผู้พิพากษาทั่วประเทศ 4,543 ราย (จำนวนผู้พิพากษาตามปรากฏวันยื่น) คือตั้งแต่ 909 ชื่อขึ้นไป

แต่ถ้าพบว่ารายชื่อผู้พิพากษาไม่ครบตามจำนวนก็จะแจ้งให้ผู้แทนของผู้พิพากษาที่เข้าชื่อนั้นทราบ เพื่อจะดำเนินการจัดให้นำรายชื่อเพิ่มเติมให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน ซึ่วหากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วไม่ได้เสนอการเข้าชื่อจนครบจำนวน ก็ให้ "เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม" จำหน่ายเรื่องการเสนอถอดถอน

ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.จะมีความชัดเจนรายชื่อผู้พิพากษาเสนอเรื่องถอดถอนว่าครบ-ไม่ครบจำนวน ถ้าครบแล้วระหว่างนี้ "นายชำนาญ" ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต.ชั้นฎีกาไว้ชั่วคราวก่อน ขณะที่กระบวนการพิจารณาถอดถอนก็จะให้โอกาส "นายชำนาญ" ทำคำชี้แจงส่งมาภายใน 7 วัน (ไม่เกิน 25 ก.ย.) แล้วจะมีการปิดประกาศคำชี้แจงอีก 7 วัน

หลังจากนั้น จึงเข้าสู่ขั้นตอนการถอดถอน ที่กฎหมายบัญญัติให้ "เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม" กำหนดวันจัดให้ทีการลงมติถอดถอนภายใน 30 วัน นับจากวันปรากฏชื่อผู้พิพากษาชัดเจน คือภายในวันที่ 18 ต.ค.นี้ คาดว่าจะรู้ว่ากำหนดวันลงมติถอดถอนในวันใด

ขณะที่กระบวนการจัดให้มีการลงมตินั้น จะส่งบัตรลงคะแนนถอดถอนไปยังผู้พิพากษาทั่วประเทศ แล้วส่งบัตรกลับมายังสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อตรวจนับจำนวนผู้ลงมติถอดถอนซึ่งจะต้องได้เสียงกึ่งหนึ่ง คือ 2,272 คน โดยถ้าผลไม่ถึงตามจำนวน "นายชำนาญ" ก็สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ ก.ต.ชั้นฎีกาได้ต่อไป แต่ถ้าผลคะแนนได้ตามเกณฑ์คือให้ถอนถอดพ้น ก.ต.แล้วจะทีผลทันที และมตินั้นถือเป็นที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายชำนาญนั้น ปัจจุบันอายุ 64 ปี ยังคงดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีศาลล้มละลายในศาลฎีกา ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งผู้พิพากษานี้ถึงอายุราชการ 65 ปี จากนั้นจะได้สิทธิขอและรับเลือกไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสจนถึงอายุ 70 ปี โดยการโยกย้ายล่าสุดนายชำนาญ ต้องพลาดการขึ้นตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา อาวุโสลำดับที่ 1 เนื่องจากติดปัญหาชั้นพิจารณาความเหมาะสมการดำรงตำแหน่งจากกรณีที่ถูกร้องเรียนกรณีดังกล่าว