‘บิ๊กดาต้า’ รหัสความสำเร็จ อินไซต์ผู้บริโภคยุค 4.0

‘บิ๊กดาต้า’ รหัสความสำเร็จ  อินไซต์ผู้บริโภคยุค 4.0

ภาวะที่ผู้บริโภคมักใช้อารมณ์ ความรู้สึกในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ ผลักดันให้ธุรกิจองค์กรต้องหาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาช่วยสร้างความเข้าใจ ที่ขาดไม่ได้คือ “บิ๊กดาต้า” ซึ่งทุกวันนี้เริ่มมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม

ปาจรีย์ แสงคำ ประธานบริหาร กลุ่มงานโซลูชันทางธุรกิจและบริการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล เปิดมุมมองว่า หัวใจในการทำการตลาดจากอดีตจนถึงปัจจุบันสิ่งที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ชนะใจผู้บริโภค และยุคนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้สิ่งต่างๆ รอบตัวเปลี่ยนไป

ดังนั้นการทำความเข้าใจและปรับตัวถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดในยุค “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ขณะเดียวกันเป็นเรื่องที่องค์กรธุรกิจและนักการตลาดต้องให้ความสนใจ" 

อย่างไรก็ดี หลักในการทำการตลาดต้องทำความเข้าใจว่าความต้องการของมนุษย์(Human Needs) ยังคงอยู่ทุกยุคทุกสมัย ผู้บริโภคยังคงมีความต้องการใช้สินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการและช่วยแก้ปัญหา แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลาคือ อารมณ์ ความรู้สึกของผู้บริโภค(Customer Emotion)

โดยเฉพาะยุคดิจิทัลผู้บริโภคใช้อารมณ์เข้ามาตัดสินใจในการเลือกบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ มากขึ้น นักการตลาดจึงต้องสรรหาเครื่องมือเพื่อศึกษาและเข้าใจถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเพื่อ “อ่านใจ” ให้ออกและนำข้อมูลมาใช้ในการคิดแผนการตลาดให้สามารถตอบโจทย์

เธอกล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีเพื่ออ่านใจผู้บริโภค 4.0 คือที่มาที่ทำให้ สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กรยุคดิจิทัลคือข้อมูลผู้บริโภค(Customer Data) ที่สมัยก่อนทำได้เพียงเก็บข้อมูลจากการวิจัยตลาดแต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้เกิดบิ๊กดาต้า นำมาซึ่งการรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลเข้าไว้ด้วยกัน มีความรวดเร็วแม่นยำมากขึ้น แต่ไม่ได้ไปสร้างความรำคาญใจ ทั้งสามารถนำมาศึกษาพฤติกรรม และบันทึกเป็นข้อมูลเพื่อนวิเคราะห์ผลต่อไป 

ทั้งนี้ เปรียบเสมือนการอ่านใจผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ ทำให้องค์กรสามารถรู้ความต้องการเชิงลึกของผู้บริโภค(Customer Insight) โดยที่บางครั้งรู้มากกว่าตัวผู้บริโภคเอง ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้การเก็บข้อมูลหรือดาต้าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ ช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ตลอดจนประหยัดเวลา

“การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเป็นการสร้างสินทรัพย์ทางดิจิทัล(Digital Asset) รูปแบบหนึ่งที่อยู่บนโลกออนไลน์ เช่น เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่เป็นอีกหนึ่งบิสิเนสแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนแปลงโลกการค้า ช่วยลดต้นทุนได้อย่างมหาศาล โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องจ้างพนักงาน ไม่ต้องจำกัดจำนวนผู้ขาย สามารถขายสินค้าพร้อมเข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลาย ทั้งการที่ไม่ต้องจำกัดประเภทของสินค้ายังทำให้สามารถสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าได้อย่างสมบูรณ์”

ปาจรีย์ เสริมว่า การสร้างความเชื่อมโยงทางการค้า(Connectivity) ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะต่อยอดธุรกิจระหว่างผู้ซื้อผู้ขายและคนที่อยู่รอบๆ แพลตฟอร์มให้เข้ามาเชื่อมต่อการซื้อขายสินค้า ยิ่งเกิดความเชื่อมโยงมากขึ้นเท่าใดก็จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับกลุ่มธุรกิจที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ความท้าทายในการทำธุรกิจยุคปัจจุบันมาจากการที่ลูกค้ามีความต้องการที่ซับซ้อนลึกซึ้งมากขึ้น มีเงื่อนไขแตกต่างไปจากเดิม

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้า โปรโมชั่น เวลา และวิธีการเลือกซื้อ ต่างมีความสำคัญเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาค้นหาความต้องการเชิงลึกของกลุ่มลูกค้าแบบรายคนและส่งต่อข้อมูลไปยังแมชชีนเลิร์นนิงเพื่อประมวลผล ทำให้ธุรกิจสามารถส่งมอบสินค้าหรือบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ โดยหากไม่ทำความเข้าใจลูกค้าให้ดีพอ ลูกค้าก็พร้อมที่จะเปลี่ยนไปหาแบรนด์คู่แข่งที่มีความเข้าใจความต้องการมากกว่าทันทีซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเริ่มนับหนึ่งใหม่ 

“ผู้ค้าจำต้องใส่ใจไปกับทุกๆ กระบวนการในเส้นทางของผู้บริโภค ตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างความต้องการในตัวสินค้าและบริการ การนำเสนอข้อมูล การสร้างความได้เปรียบในการประเมินทางเลือก มีการกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อ และการสร้างความพึงพอใจหลังการใช้สินค้าหรือบริการนั้นๆ”