เกาะติดการปรับรื้อ 'ดีเอสไอ' ประเทศ-ปชช.ได้ประโยชน์?

เกาะติดการปรับรื้อ 'ดีเอสไอ' ประเทศ-ปชช.ได้ประโยชน์?

หลังการถ่ายทอดนโยบายเกลี่ยสัดส่วนตำแหน่งบริหาร ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ได้ปิดห้องหารือกับผอ.กองคดีเพื่อถามหาความสมัครใจ

ในการโอนย้ายออกนอกหน่วย 5-6 ที่นั่ง เพื่อเฉลี่ยให้ทหารและพลเรือนที่โอนย้ายมาจากเกือบ 100 หน่วยงาน ได้มีโอกาสพิสูจน์ฝีมือ

โดย พ.ต.ท.สุภัทร์ ธรรมธนารักษ์ ผอ.กองคดีต่อต้านการค้ามนุษย์ สมัครใจขอโอนกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน ผอ.กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมัครใจโอนย้ายไปกรมราชทัณฑ์ รวมกับผอ.กองคดีที่จะครบเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้

อีก 2 ที่นั่ง คือ พ.ต.ท.บรรฑรูย์ ฉิมกรา ผอ.กองคดีอาญาพิเศษ 2 กับ พ.อ.พินิจ ตั้งสกุล ผอ.กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา หักลบแล้วยังขาดอีก 1-2 เก้าอี้ก็จะครบตามเป้าที่ขีดวงโดยกระทรวงยุติธรรม เก็งกันว่าหวยอาจออกที่ พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจน์นิรันดร์กิจ ผอ.กองคดีเทคโนโลยีและการตรวจสอบ

เอาเป็นว่าวาระนัดกินข้าวเที่ยง ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ คงมีคำอธิบายดีๆ ไพเราะรื่นหู ชี้แจงต่อบรรดา ผอ.กองคดีและรองผอ.กองคดี ที่ลุ้นระทึกว่าจะอยู่หรือไป รวมถึงความชัดเจนเกี่ยวกับตำแหน่งผอ.กองคดีในสัดส่วนของพลเรือน ว่าจะตกเป็นผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษ..คนใน. หรือโอนย้ายข้ามหน่วย

ว่าไปแล้ว พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ออกแบบมาให้ย้ายยาก เพื่อป้องกันไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงสำนวนคดี แต่การย้ายยากก็สร้างปัญหาต่อการบริหารงานในดีเอสไอ กรมที่เกลื่อนไปด้วยลูกผู้ใหญ่ เด็กนาย บางคนเมื่อได้ลงในตำแหน่งหลักแล้ว ย้ายก็ไม่ได้เพราะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทางออกที่เหมาะ. ควรกำหนดให้มีตำแหน่งผู้ตรวจราชการกรมเพื่อใช้เป็นกรุแขวน จะปฏิรูปทั้งที ก็ควรจะแก้ปัญหาไปในคราวเดียว

ประเด็นที่ต้องจับตามอง ลึกไปกว่าการโยกย้ายเพื่อปรับโครงสร้าง คืออนาคตของดีเอสไอจะคงอยู่เพื่อทำประโยชน์ให้ประเทศและประชาชนอย่างไร เพราะด้วยนโยบายที่กำหนดออกมา แทบจะทำให้งานปราบปรามของดีเอสไอเกือบหยุดชะงัก ไม่ยุบแต่ทำให้ยืนต้นตายไปเอง

จึงถือเป็นโชคดีของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่ขอแยกตัวออกจากกระทรวงยุติธรรมไปขึ้นตรงต่อนายกฯได้เป็นผลสำเร็จ