ดีฟเทคสายสุขภาพ

ดีฟเทคสายสุขภาพ

จมูกไฮเทคดมกลิ่นตรวจโรคและ ซีเมนต์กระดูกแบบฉีด ผลงานดีฟเทคโนโลยีด้านชีววิทยาศาสตร์ เข้าร่วมโครงการ “ส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้วยการลงทุน”

จมูกไฮเทคดมกลิ่นตรวจโรคและ ซีเมนต์กระดูกแบบฉีด ผลงานดีฟเทคโนโลยีด้านชีววิทยาศาสตร์ เข้าร่วมโครงการ “ส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้วยการลงทุน” หรือ Promoting I with I ปี 2 เพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ปีแรกประสบความสำเร็จในการเจรจาธุรกิจคิดเป็นมูลค่า 20 ล้านบาท คาดปีนี้เพิ่มเป็น 40 ล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านบาทได้ใน 2-3 ปีถัดไป

การแพทย์ฝีมือคนไทย

ธารทิพย์ เอี่ยมสะอาด นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เจ้าของผลงานจมูกอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการประยุกต์ใช้ด้านสุขภาพ กล่าวว่า เกิดจากการบูรณาการองค์ความรู้ด้านเซนเซอร์ดมกลิ่น ที่เลียนแบบการทำงานของจมูกมนุษย์ เพื่อตรวจวัดโมเลกุลก๊าซหรือกลิ่นต่างๆ โดยเซนเซอร์จะเปลี่ยนข้อมูลกลิ่นให้เป็นข้อมูลดิจิทัล จากนั้นนำไปบูรณาการกับเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า เอไอ และไอโอที จะทำให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ ที่ตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ การประเมินผลกลิ่น รสชาติ ความสดใหม่ ความสุก กลิ่นตัวมนุษย์ที่สามารถระบุโรค เช่น เบาหวาน ไต มะเร็ง

“จุดเด่นคือเป็นดีฟเทคโนโลยีที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ และสามารถนำไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง เช่น การนำเซนเซอร์ไปตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับและเบาหวาน เพื่อคัดกรองผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นหรือระยะที่เป็น ด้วยวิธีการใช้ที่ง่าย สะดวกรวดเร็ว ทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและภาครัฐด้านสาธารณสุข และที่สำคัญยังสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

จมูกอิเล็กทรอนิกส์ยังประยุกต์ใช้เป็นเครื่องตรวจวัดกลิ่นตัวแบบพกพา โดยสามารถตรวจวัดระดับความเหม็นของกลิ่นตัว มีระบบการเตือนผู้ใช้งานเมื่อกลิ่นตัวมีความเหม็นมาก บ่งชี้อาการเบื้องต้นของโรคที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นตัว เช่น โรคตัวเหม็น และตรวจวัดระดับของการออกกำลังกายได้จากการวัดกลิ่นที่มาจากเหงื่อ เป็นต้น

ขณะที่ผลงานซีเมนต์กระดูกแบบฉีดทดแทนกระดูก นำเสนอโดย รศ.ศิริรัตน์ ทับสูงเนิน รัตนจันทร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า ชิ้นงานเป็นวัสดุทดแทนกระดูกเพื่อเติมเต็มส่วนของเนื้อกระดูกที่สูญเสียไป ทั้งนี้ ไทยต้องนำเข้าวัสดุทดแทนนี้มากขึ้น ผลจากสังคมผู้สูงอายุทำให้ปัญหาโรคที่เกี่ยวกับกระดูกและสภาวะกระดูกพรุนกลายเป็นปัญหาใหญ่

นักวิจัยได้พัฒนาวัสดุที่เป็นของผสมระหว่างผงของแข็งกับของเหลวในอัตราส่วนที่เหมาะสม ได้องค์ประกอบทางเคมีคล้ายกับกระดูกของมนุษย์และมีสมบัติคล้ายซีเมนต์ที่สามารถขึ้นรูปต่างๆ โดยการปั้นหรือการฉีดผ่านเข็มฉีดยาขนาดเล็กเข้าบริเวณที่สูญเสียกระดูก ทั้งช่วยส่งเสริมการเกาะของเซลล์กระดูก นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมของเส้นใยพอลิเมอร์ธรรมชาติย่อยสลายได้ เพื่อให้แข็งแรงเพียงพอ ผลงานนี้ยังใช้วัสดุในประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตถูก สามารถแข่งขันได้ และยังนำไปต่อยอดกับเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติได้อีกด้วย

เวทีเชื่อมนักวิจัย-นักลงทุน

นเรศ ดำรงชัยผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ทีเซลส์) กล่าวว่า โครงการฯ มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ที่มาจากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่เส้นทางที่นำองค์ความรู้ไปสู่เชิงพาณิชย์ไม่ใช่เรื่องง่าย โครงการนี้ถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดธุรกิจอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ยา ชีวภัณฑ์ อาหารเสริม ชุดทดสอบทางการแพทย์ ที่เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและประเทศจากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมไปเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพ

วสันต์ อริยพุทธรัตน์ นายกสมาคมสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย กล่าวว่า สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำธุรกิจ คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งหลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยกำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพอย่างเข้มแข็ง เนื่องจากจะทำให้แข่งขันในตลาดโลกได้ จากที่ผ่านมาเน้นการแข่งขันราคาเป็นหลัก

ดังนั้น โครงการการส่งเสริมนวัตกรรมฯ จึงเป็นสะพานเชื่อมให้นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มีโอกาสพบปะเจรจาผู้ที่สนใจลงทุนงานวิจัยถึงความเป็นไปได้ในการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์