สนองพระราชดำริพัฒนา 'ลำน้ำชีตอนบน'

สนองพระราชดำริพัฒนา 'ลำน้ำชีตอนบน'

สนองพระราชดำริพัฒนา“ลำน้ำชีตอนบน” สร้าง “อ่างเก็บน้ำ” ป้องท่วมเมืองชัยภูมิ

การตัดยอดน้ำลำน้ำชี เป็นอีกแนวทางป้องกันปัญหาการเกิดอุทกภัยในช่วงท้ายน้ำ ขณะที่การมีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งก็มีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ลำน้ำชีมีต้นกำเนิดมาจากเขายอดชีในเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลผ่าน จ.เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี

จะเห็นว่าทุกๆ ปีในช่วงหน้าฝน สองฝั่งลำน้ำจะต้องประสบปัญหาน้ำนองซ้ำซากตลอดลำน้ำ ขณะช่วงหน้าแล้งผืนดินแห้งผากขาดน้ำมาหล่อเลี้ยง โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หนึ่งในโครงการที่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาดังกล่าว

กรมชลประทานได้ศึกษาและจัดทำรายงานความเหมาะสมแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2514 เสนอให้ก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำชี แต่ประสบปัญหาการอพยพราษฎร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริให้ลดขนาดและเลื่อนตำแหน่งที่ตั้งลงมาเพื่อแก้ปัญหาการอพยพราษฎรและได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้อธิบดีกรมชลประทาน(ในขณะนั้น) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรมราชองครักษ์ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 โดยมีกระแสพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

“...เขื่อนเก็บกักน้ำลำน้ำชี พิกัดทำเลที่สร้างเขื่อน 47 PQT 886-650 แผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 ระวาง 5340 IV ในเขต อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ซึ่งกรมชลประทานวางโครงการจะก่อสร้างขึ้นนั้น ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำมาก เพราะพื้นที่ถูกน้ำท่วมเป็นอ่างเก็บน้ำถึง 190,000 ไร่ ประกอบกับมีราษฎรอาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมากด้วย ทำให้การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินของอ่างเก็บน้ำแห่งนี้กระทำได้ยากมาก จึงควรพิจารณาเลื่อนเขื่อนเก็บกักน้ำลำน้ำชีมาก่อสร้างใต้ลงไปที่พิกัด 47 PQT 984-485 แผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 ระวาง 5340 ซึ่งอ่างเก็บน้ำอาจจะเล็กลง แต่ปัญหาเรื่องที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำมีน้อยสามารถทำการก่อสร้างได้ และควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำทางบริเวณต้นน้ำลำน้ำชี และตามลำน้ำสาขาต่างๆ ของลำน้ำชีเพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่มีน้ำทำการเพาะปลูกได้ทั้งในระยะฤดูฝน-ฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปีด้วย...”

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เผยความคืบหน้าโครงการฯว่า สทนช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้น้อมนำพระราชกระแสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาขับเคลื่อน และผลักดันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งน้อมนําศาสตร์พระราชามาใช้ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2562 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญภายใต้คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ(กนช.) ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจำนวน 9 โครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ

“โครงการน้ำชีคืออ่างเก็บน้ำยางนาดีเดิม เป็นโครงการตามผลการศึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน ซึ่งได้เริ่มศึกษาเมื่อปี 2507 โดย USBR (United State Bureau of Reclamation) และได้ศึกษาโดยละเอียดอีกครั้งในปี 2514 จึงได้มีการเสนอให้ก่อสร้างเขื่อนน้ำชี เขื่อนผันน้ำที่บ้านยางนาดี และเขื่อนกั้นลำชีลอง แต่ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ เนื่องจากต้องอพยพราษฎรจำนวนมาก ต่อมาในปี 2527 กรมชลประทานได้รับความช่วยเหลือจากประชาคมยุโรปและได้มีการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบนอีกครั้ง ผลการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2531 และได้กำหนดให้โครงการเขื่อนชีบนและเขื่อนยางนาดี อยู่ในแผนระยะกลาง”

เลขาธิการ สทนช. เผยต่อว่า เนื่องจากอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีฯ เป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงต้องศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรมชลประทานจึงได้ศึกษาแล้วเสร็จและแจ้งผลการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2540 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2540 โดยมีมติเห็นชอบต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนเรื่องอื่นๆ ให้ศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของบริเวณพื้นที่จัดสรรอพยพเพื่อหามาตรการปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสม รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยต่างๆ ให้ชัดเจนและให้ปรับปรุงแก้ไขรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนปฏิบัติการแก้ไข

พร้อมทั้งศึกษาข้อมูลด้านการแพร่กระจายของดินเค็มเพิ่มเติมในเขตพื้นที่โครงการ และจัดทำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาอีกครั้ง โดยกรมชลประทานได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 นอกจากนี้ให้กรมชลประทานพิจารณาการจัดการน้ำทั้งระบบ โดยพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์จากการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยควรพิจารณาทั้งลุ่มน้ำและให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาศึกษาแนวทางการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่โครงการที่จะจัดเป็นพื้นที่ชลประทานต่อไปในอนาคตว่า พืชชนิดใดที่เหมาะสมกับพื้นที่ดังกล่าว เพื่อจะได้นำผลการศึกษามาปรับแนวทางการพัฒนาการเกษตรของพื้นที่โครงการให้เหมาะสมต่อไป

“โครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ(กนช.) เรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 6 ปี (2561-2566) ซึ่งในปี 2561 เป็นงานเตรียมความพร้อมเบื้องต้น โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. ประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 33 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างถนนเข้าหัวงาน อาคารที่ทำการ งานถมดินปรับพื้นที่ ขยายเขตระบบไฟฟ้าแรงสูง และงานหอถังสูง ขนาด 10 ลูกบาศก์เมตร พร้อมอุปกรณ์ โดยประธาน กปร.อนุมัติเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา” ดร.สมเกียรติกล่าวทิ้งท้าย

องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 4-5 เมษายน 2561 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เดินทางมาประชุมติดตามเร่งรัดและขับเคลื่อนโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินโครงการ ณ ห้องประชุมชั้น 5 ศาลกลางจังหวัดชัยภูมิ โดยมีนายณรงค์ วุ้นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้อนรับและรับฟังบรรยายสรุปความคืบหน้าการก่อสร้าง โดยมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ได้ติดตามในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

หลังรับฟังบรรยายสรุปทั้งหมดจึงเดินทางไปยังพื้นที่ที่ตั้งโครงการ บริเวณบ้านยางนาดี ต.ชีบน อ.บ้านเขว้า และบ้านละหานค่าย ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว ซึ่งมีการศึกษาความเหมาะสมโครงการและได้ข้อสรุปว่าควรมีการก่อสร้างเขื่อนชีบน(เขื่อนน้ำชีเดิม)และเขื่อนยางนาดี(ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี) มาตั้งแต่ปี 2530 จนถึงปี 2555 ครม.สัญจรมีมติให้มีการเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เพื่อให้เป็นแหล่งเก็บน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร แก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และให้มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค อย่างเพียงพอในพื้นที่โครงการ

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีฯ เป็นเขื่อนดิน ความสูง 24 เมตร ความยาว 1,580 เมตร ความกว้าง 9 เมตร ความจุกักเก็บน้ำ 70.21 ล้าน ลูกบาศก์เมตรความจุของอ่างฯ ที่ระดับน้ำสูงสุด 118.87 ล้านลูกบาศก์เมตร มีอาคารระบายน้ำล้นชนิดประตูระบายเหล็กบานโค้ง 6 บาน มีอาคารส่งน้ำเดิมท่อส่งน้ำ 2 แถว พื้นที่ส่งน้ำ 165,300 ไร่ มีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 6 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2566 ด้วยงบประมาณ 3,100 ล้านบาท

ส่วนประโยชน์จะได้รับจากโครงการด้านเกษตรกรรม ส่งน้ำตามลำน้ำชีมีพื้นที่ได้ประโยชน์ในฤดูฝน 75,000 ไร่ ฤดูแล้ง 30,000ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 12 ตำบล ราษฎร 2,959 ครัวเรือนได้รับผลประโยชน์ตลอดอายุโครงการ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใช้สำหรับหล่อเลี้ยงลำน้ำชีในช่วงฤดูแล้ง ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการเกิดอุทกภัยในฤดูฝนและภัยแล้งช่วงหน้าแล้งได้เป็นอย่างดี