ก.อุตฯ ร่วมหารือภาครัฐเอกชนขับเคลื่อน SME กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์

ก.อุตฯ ร่วมหารือภาครัฐเอกชนขับเคลื่อน SME กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์

ก.อุตฯ จัดทัพใหญ่ร่วมหารือภาครัฐเอกชนขับเคลื่อน SME กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ เร่งพัฒนาธุรกิจขนาดย่อมสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม ชูศูนย์ ITC จ.นครราชสีมา เป็นโรงงานต้นแบบ

วันนี้ (13 กันยายน 2561) นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อน SMEs 4.0 ในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์) ณ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุวินัย ต่อศิริสุข เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางเบญจมาพร เอกฉัตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารองค์กรเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา จังหวัดนครราชสีมา ร่วมหารือ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายที่จะพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน SME 4.0 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสู่การเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง ทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร เกษตรแปรรูป และของฝากของที่ระลึก “เรามีมาตรการที่จะช่วย SME ในพื้นที่ให้พัฒนาตนเอง และยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ด้วยกลไกลประชารัฐที่ขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งแนวทางสำคัญหนึ่งก็คือ การสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยง SME สู่การนำนวัตกรรมมาประยุกต์ และสร้างโอกาสให้สินค้าและบริการของไทยเข้าสู่ตลาดโลกผ่าน E-Commerce แพลตฟอร์ม”

การสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยง SME สู่การนำนวัตกรรมมาใช้ในเชิงพาณิชย์ จะทำผ่านศูนย์ปฏิรูปสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center : ITC) ซึ่งศูนย์ ITC เป็นศูนย์ต้นแบบ และพัฒนาอัตลักษณ์ Local Identity จากลักษณะเด่นของธุรกิจทางกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจและชุมชน โดยศูนย์นี้เป็นการนำรูปแบบจากศูนย์ ITC ต้นแบบที่กรุงเทพมหานคร มาปรับให้เหมาะสมกับศักยภาพอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ เพื่อให้บริการและสนับสนุน SMEs ในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหาร เกษตรแปรรูป ของฝากและของที่ระลึกต่างๆ

โดยศูนย์ ITC จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ สถาบันอาหาร ในการสนับสนุนการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมโคเนื้อ(อีสานวากิว) โดยบริการให้คำปรึกษา บริการเครื่องจักรด้านบรรจุภัณฑ์ การแปรรูปเนื้อโคส่วนเหลือทิ้ง และส่งเสริมให้มี Startup สู่การตลาดเชิงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าผู้เลี้ยงโคมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงาน ส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มอุตสาหกรรมโคเนื้อเกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้ร่วมดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อรองรับการเป็นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไหมครบวงจรต่อไป