ประเด็นร้อน! 'กรณ์VSปิยสวัสดิ์' โต้แย้งปตท.ซื้อหุ้นโกลว์

ประเด็นร้อน!  'กรณ์VSปิยสวัสดิ์' โต้แย้งปตท.ซื้อหุ้นโกลว์

"กรุงเทพธุรกิจ" จับประเด็นร้อน! "กรณ์ VS ปิยสวัสดิ์" โต้แย้งปตท.ซื้อหุ้นโกลว์

การออกมาเคลื่อนไหวของนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ซื้อหุ้นบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 75 และอาจเข้าข่ายใช้อำนาจทางการตลาด

เข้าข่ายทำธุรกิจแข่งเอกชน

นายกรณ์ จาติกวณิช ระบุว่า ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และเตรียมยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อคัดค้านกลุ่ม ปตท.ซื้อหุ้นโกลว์ โดย กกพ.มีอำนาจพิจารณาอนุมัติโอนย้ายใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า เข้าไปตรวจสอบกรณีการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวของกลุ่ม ปตท.ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่กับไปแข่งขันกับเอกชนในธุรกิจไฟฟ้านั้น ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 75 ที่มีข้อห้ามให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจทำธุรกิจเพื่อแข่งขันกับเอกชน ยกเว้นว่าสามารถดำเนินการได้กรณีจำเป็น

กรณีดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการกังวลและร้องเรียนความได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะ ปตท.เป็นค้าก๊าซรายเดียวในประเทศ แม้จะเปิดเสรีธุรกิจแต่ยังไม่มีเอกชนรายใดมาแข่งขัน ทำให้ ปตท.ยังผูกขาดและได้เปรียบในธุรกิจก๊าซรายใหญ่และรายเดียว ที่อาจจะกระทบต่อการแข่งขันธุรกิจปิโตรเคมี

ประเด็นร้อน!  \'กรณ์VSปิยสวัสดิ์\' โต้แย้งปตท.ซื้อหุ้นโกลว์

แม้ ปตท.จะชี้แจงว่าการเข้าซื้อหุ้นโกลว์ เป็นการดำเนินการโดย จีพีเอสซี ที่มีสถานะเป็นเอกชน ซึ่ง ปตท.ถือหุ้นในจีพีเอสซี ในสัดส่วน 20% แต่หากรวมถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมแล้ว มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ขณะที่สัดส่วนการลงทุนร่วมกันจะมีเพียง 10% ของกำลังการผลิตทั้งหมด หรือ 4-5พันเมกะวัตต์ ในมาบตาพุด ซึ่งประเด็นนี้ผู้ประกอบการมองว่าเป็นการผูกขาดในเชิงพื้นที่ จึงต้องการให้ กกพ.ตรวจสอบ

"การซื้อหุ้นโกลว์เพื่อทำธุรกิจไฟฟ้า ถือเป็นการแข่งขันกับเอกชนอย่างปฏิเสธไม่ได้ เรามองว่าเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้ยืนคัดค้านตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ไม่ได้บอกว่า ผูกขาดธุรกิจไฟฟ้า แต่ปตท.ผูกขาดการค้าก๊าซ ดังนั้น การที่มีรัฐวิสาหกิจได้สิทธิพิเศษมาแข่งขันในธุรกิจมันควรหรือไม่ ”

ประเด็นสำคัญที่ต้องหารือกับ กกพ. คือเงื่อนไขสำคัญในการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ จะต้องได้รับการอนุมัติจาก กกพ. ก่อน ซึ่งหาก กกพ.อนุมัติก็จะทำให้กระบวนการซื้อหุ้นเดินหน้าจะมีการจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นให้กับกลุ่ม Engie ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น GLOW มูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท ทำให้เม็ดเงินไหลออกจากประเทศไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท และหากภายหลังมีการโอนเงินไปแล้ว แต่มีการตีความว่าเป็นการกระทำที่ขัดกฎหมายใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ดังนั้น กกพ.ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ ซึ่งมีกำหนดการพิจารณาแล้วเสร็จภายในวันที่ 27 ก.ย. และสามารถขยายเวลาได้อีก 15 วัน

ส่วนการยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาว่าการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 หรือไม่ ซึ่งหากขัดต่อกฎหมายก็เป็นอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินต่อไป เพื่อท้วงติงกรณีขัดรัฐธรรมนูญให้กับศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องพิจารณาต่อไป

ปตท.ไม่มีเหลืออำนาจรัฐ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง NOW 26 วานนี้ (12 ก.ย.) โดยคาดว่ารัฐจะไม่สั่งให้ ปตท.ยุติการซื้อหุ้นโกลว์ เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้มีการแข่งขันเสรีในธุรกิจก๊าซ ก็ควรจะต้องให้มีการแข่งขันเสรีในธุรกิจไฟฟ้าด้วย และหวังว่า กกพ.จะพิจารณากรณีการซื้อกิจการครั้งนี้เฉพาะในขอบเขตกฎหมายที่มีอยู่ คือเรื่องการผูกขาด

สำหรับ ตามนโยบายรัฐบาลที่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีก๊าซฯ ต้องยอมรับว่าธุรกิจของ ปตท.จะต้องเปลี่ยนไป รูปแบบโครงสร้างการทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ไม่ควรบอกว่าก๊าซฯเปิดเสรีทุกคนเข้ามาแข่งได้ แต่ ปตท.เข้าไปทำธุรกิจไฟฟ้าไม่ได้ โดยเฉพาะห้ามจีพีเอสซีที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นไม่ถูกต้อง

ประเด็นร้อน!  \'กรณ์VSปิยสวัสดิ์\' โต้แย้งปตท.ซื้อหุ้นโกลว์

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าผูกขาดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ใช่ ปตท.และถ้าต้องการให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจพลังงานอย่างแท้จริง ต้องเปิดให้มีการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าด้วย โดยปัจจุบัน กฟผ. มีกำลังผลิตไฟฟ้า 16,000 เมกะวัตต์​ รองลงมาคือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 7,000 เมกะวัตต์​, กลุ่มบริษัท กัลฟ์ 6,000 เมกะวัตต์ และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก 5,000 เมกะวัตต์

ส่วนจีพีเอสซี มีกำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์​ เมื่อรวมกับโกลว์อีก 3,000 เมกะวัตต์ จะมีกำลังผลิตเพียง 5,000 เมกะวัตต์ เป็นอันดับ 5 ของประเทศ ดังนั้น ผู้ผูกขาดธุรกิจไฟฟ้าก็ยังเป็น กฟผ.เพราะเป็นผู้มีสิทธิ์ซื้อไฟฟ้าจากไอพีพี และเอสพีพี แต่เพียงรายเดียว โดยเฉพาะการผูกขาดระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศ ฉะนั้นสิ่งที่ควรผลักดันคือ ให้รัฐเปิดเสรีกิจการไฟฟ้าเช่นเดียวกับกิจการก๊าซธรรมชาติ

จีพีเอสซีเข้าไปทำธุรกิจไฟฟ้าระยะหนึ่งแล้ว และไม่ได้ต้องการแข่งกับ กฟผ. ซึ่งธุรกิจ ปตท.เป็นโรงกลั่นและปิโตรเคมี ที่ต้องการไฟฟ้าและไอน้ำในประสิทธิภาพสูง จึงต้องมีโรงไฟฟ้าเล็กๆ แต่ระยะหลังได้ควบรวมธุรกิจไฟฟ้าในกลุ่มปตท.แล้วเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนธุรกิจก๊าซที่เดิมยังผูกขาดโดย ปตท.นั้น ก็จะเห็นว่าในการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี รอบ2 และรอบ3 กลุ่ม ปตท.ก็ไม่ได้เข้าไปร่วมการประมูลด้วย ถือว่าเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ปัจจุบัน เมื่อเปิดเสรีธุรกิจแล้ว ก็ควรเปิดโอกาสให้จีพีเอสซีร่วมประมูลได้ด้วย
ส่วนกรณีที่ระบุว่า ปตท.ถูกจัดตั้งขึ้นมาตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่เจาะจงให้ทำธุรกิจปิโตรเลียมเท่านั้น ประเด็นนี้ ขอชี้แจงว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกยกเลิกไปนานแล้ว ตั้งแต่แปรรูป ปตท. ปี 2544 และอำนาจรัฐที่เคยโอนให้ ปตท.ก็ถูกดึงไปที่ กกพ.หมดแล้ว หลังออก พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2550 ดังนั้น ปตท.ไม่มีอำนาจรัฐเหลืออีกต่อไปแล้ว

สำหรับ กรณีผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าโกลว์ 8 ใน 10 รายที่ออกมาเรียกร้องคัดค้านการซื้อหุ้นของจีพีเอสซี เป็นบริษัทในเครือเอสซีจี นั้น คาดว่า คงจะกลัวเรื่องของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งกลุ่มเอสซีจี ทำธุรกิจปิโตรเคมี และเป็นคู่แข่งกับกลุ่ม ปตท. แต่ปัจจุบันโกลว์มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับลูกค้าอยู่แล้ว ซึ่ง กกพ.ต้องกำกับดูแลให้เป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย