นายกฯ แจงอบรม ปชช.ก่อน 'เลือกตั้ง' หวังมีหลักคิดเลือกคนคุณภาพ

นายกฯ แจงอบรม ปชช.ก่อน 'เลือกตั้ง' หวังมีหลักคิดเลือกคนคุณภาพ

“ประยุทธ์” แจงหลักสูตรอบรม ปชช. ก่อน "เลือกตั้ง" ต้องการให้มีหลักคิด เลือกนักการเมืองคุณภาพ กระตุ้นคนไทยใช้สิทธิ 90% ขึ้น ลั่นไม่อยากให้ทุกย่างกลับที่เดิม

เมื่อวันที่ 11 ก.ย.61 เวลา 14.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงแนวคิดที่จะให้ท้องถิ่นเปิดหลักสูตรอบรมประชาชน 90 วันก่อนการเลือกตั้ง ว่า ตนอาจจะใช้คำพูดหนักไปที่ว่าจะให้มีการอบรมพิเศษ ความจริงต้องการจะบอกว่าอยากให้มีการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยก็ได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือทำออย่างไรที่จะให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้าใจว่า เราจะมีการบริหารราชการแบบธรรมาภิบาลได้อย่างไร มีหลักการทั้งหมด 6 ข้อ ประชาชนจะต้องรับทราบว่า ระบบการบริหารราชกาารแผ่นดินเป็นอย่างไร ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น การใช้จ่ายงบประมาณ มีความแตกต่างจากที่ผ่านมา รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ทำไปทุกอย่างต้องสร้างการรับรู้ใหม่ แม้ที่ผ่านมาสื่อจะช่วยขยายความแต่ก็ยังไม่ทั่วถึง

"แต่กระบวนการสร้างการรับรู้ที่ทำ ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปสนับสนุนใคร อย่ามองทุกอย่างเป็นการเมืองไปทั้งหมด วันนี้หลายคนบอกว่า ประชาชนยังไม่รู้เลยว่ารัฐบาลทำอะไร แล้วก็ต่อว่าว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่ทำให้ประชาชนเข้าใจ ผมจึงต้องทบทวนว่าจะต้องทำอย่างไร ทุกกระทรวงต้องสรุปแนวทางและสิ่งที่ทำมาตลอด 4 ปี ใครได้หรือไม่ได้ประโยชน์ ถ้าไม่อธิบายหรือสร้างความเข้าใจทุกอย่างก็จะกลับมาที่เดิม ในส่วนของท้องถิ่นไม่ได้หมายความว่า เราไปสนับสนุนพรรคไหน หรือเลือกใคร เพียงแต่จะบอกว่าท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง และเมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นทุกคนต้องมีหลักคิด ว่าจะเลือกตั้งคนอย่างไรเข้ามาบริหารงานในท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมีความรู้ในเรื่องการบริหารงานราชการแค่ไหนอย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ในเรื่องของประชาธิปไตยต้องสร้างหลักคิดว่า ประชาธิปไตยที่ถูกต้องเป็นอย่างไร การเลือกตั้งวันนี้หลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ตามพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ที่ออกมาทุกคนจะได้มีความเข้าใจ เพราะตนก็อยากให้ทุกคนออกมาเลือกตั้งทั้งหมด ที่ผ่านมามีแค่ร้อยละ 60-70 วันนี้ควรจะร้อยละ 90 ขึ้นไปดีกว่าหรือไม่ แต่ถ้าประชาชนไม่รู้ว่าสิ่งที่เขามาเลือกสำคัญอย่างไร ทุกอย่างก็จบ
ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งต่อไปเป็นหน้าที่ของคนทุกคนทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น ทุกคนต้องมีความเข้าใจหลายๆอย่างที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น การสมัครเป็นสมาชิกพรรคเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่าย ค่าบำรุงพรรคเป็นอย่างไร เพราะถ้าถูกบิดเบือนก็จะวุ่นวายในภายหลัง หรือการใช้บัตรใบเดียวเป็นอย่างไร การไม่ออกมาเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น หรือการออกมาเลือกตั้งแล้วก็จะต้องรู้ว่าเราจะเลือกคนไหน หมายเลขอะไร อีกช่องหนึ่งก็คือไม่เลือกใครเลย แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ทุกคนต้องรู้ถึงสิทธิหน้าที่ที่ต้องทำ ถ้าทุกคนเข้าใจหลักการและเหตุผลก็จะได้การเลือกตั้งที่มีคุณภาพ ได้การเมือง ได้นักการเมืองที่มีคุณภาพเข้ามาสู่ระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งรัฐบาล ตั้งนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าประชาชนไม่เข้าใจพื้นฐานตรงนี้ ก็จะไปไม่ได้ทั้งหมด สิ่งนี้คือเจตนาที่มุ่งมั่นของตน ประชาชนต้องรู้ว่าการเลือกตั้งมี 2 ระดับ คือการเลือกตั้งระดับชาติ และการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น

"แม้แต่กำนันผู้ใหญ่บ้าน เราต้องมาร่วมมือกันเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งข้าราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ทุกคนต้องเข้าใจให้หมดว่าไม่มีเรื่องของฐานเสียง เพราะทุกอย่างถูกจับตาโดย กกต. วันนี้รัฐบาลเองก็ต้องอยู่ตรงกลางให้ได้ เพียงแต่ต้องขับเคลื่อนสิ่งใหม่ๆ ลงไป เพราะทุกคนทราบดีแล้วว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่วันนี้เรากำลังทำทุกอย่างให้โปร่งใส ดีขึ้นชัดเจนขึ้น ก็หวังว่าทุกคนจะเข้าใจเว้นเสียแต่คนที่ไม่ตั้งใจที่จะเข้าใจ มีอะไรก็มีปัญหาไปทั้งหมด ผมไม่ต้องการให้ทุกอย่างกลับไปที่เดิม" นายกฯ กล่าว