บสย.รุกตลาดภูมิภาค ดันยอดค้ำฯ ครึ่งปีหลังปี 61

บสย.รุกตลาดภูมิภาค ดันยอดค้ำฯ ครึ่งปีหลังปี 61

บสย.เปิดแผนค้ำประกันสินเชื่อไตรมาส 3-4 ปูพรมระดับภูมิภาค ดึงธนาคารร่วมผลักดัน 2 โครงการใหม่ “SMEs ทวีทรัพย์” และ “รายย่อยสร้างอาชีพ” วงเงิน 165,000 ลบ. หนุนผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ นำร่องขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยแผนและกลยุทธ์การตลาด บสย. ในไตรมาส 3-4 ว่า จะลงพื้นที่เป้าหมายในระดับภูมิภาค 3 จังหวัดครอบคลุมพื้นที่การให้บริการค้ำประกันสินเชื่อ คือ จังหวัดขอนแก่น (11 ก.ย.) จังหวัดเชียงใหม่ (14 ก.ย.) และจังหวัดสงขลา (21 ก.ย.) เพื่อสร้างการรับรู้ รายละเอียดและความพิเศษของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทรัพย์ (PGS7) วงเงิน 150,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อยสร้างอาชีพ (MICRO3) วงเงิน 15,000 ล้านบาท กับธนาคารพันธมิตรที่ร่วมโครงการในแต่ละภูมิภาคอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ แผนสร้างการรับรู้และชี้แจงรายละเอียดกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้เร็วและง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทรัพย์ (PGS7) ที่ บสย.ได้พัฒนาขึ้นภายใต้กลยุทธ์ Segmentation แบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อเป็น 6 กลุ่มชัดเจน และตอบโจทย์มาตรการของรัฐบาลมากขึ้น ประกอบด้วย
1. กลุ่ม SMEs ประชารัฐและนโยบายรัฐบาลผ่านธนาคารกรุงไทย และสินเชื่อนโยบายรัฐ
2. กลุ่ม SMEs นิติบุคคล บัญชีเล่มเดียว ซึ่งเป็น SMEs ประเภทนิติบุคคล ที่ใช้งบการเงินส่งกรมสรรพากรในการพิจารณายื่นขอสินเชื่อ หรืออยู่ภายใต้โครงการสินเชื่อนิติบุคคล บัญชีเล่มเดียวของสถาบันการเงิน
3. กลุ่ม SMEs รายเล็ก ผู้ประกอบการที่มีทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 50 ล้านบาท
4. กลุ่ม SMEs ได้รับสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
5. กลุ่ม SMEs ทั่วไปที่มีทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาท
6. กลุ่มเฉพาะของแต่ละสถาบันการเงิน เป็น SMEs ตามเงื่อนไขของสถาบันการเงิน

คาดว่าทั้ง 6 กลุ่ม จะช่วยให้ธนาคารมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ และผู้ขอสินเชื่อสามารถเลือกใช้การค้ำประกันสินเชื่อที่ตรงกับความต้องการ เพราะแต่ละกลุ่มมีความชัดเจน ขณะที่โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อยสร้างอาชีพ (MICRO3) วงเงิน 15,000 ล้านบาท ได้รับความสนใจเกินคาด โดยมี 9 ธนาคารเข้าร่วมโครงการ

“แผนการรุกตลาดต่อเนื่องตลอดไตรมาส 3 - 4 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการค้าและธุรกิจ ซึ่งเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการ SMEs ในการหาแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ จากสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อกับ บสย. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นภาคส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง” นายเกรียงไกร กล่าว

บสย.ลั่นพร้อมค้ำฯ 10 จังหวัดอีสาน

นายมโนฑ ศรีพรมทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายกิจการสาขา สำนักงานสาขาอุดรธานี กล่าวว่า ในส่วนของแผนปฎิบัติงานระดับภาคของสำนักงานสาขา จะสอดคล้องและดำเนินการแบบเชิงรุก โดยขณะนี้พื้นที่ทั้ง 10 จังหวัด ภายใต้การดูแลของสำนักงานสาขาอุดรธานี ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย หนองบัวลำภู เลย สกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร นครพนม และบึงกาฬ มีความพร้อมเต็มที่แล้ว หลังจากที่ฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้ชี้แจงรายละเอียดโครงการกับธนาคารในภูมิภาค

สำหรับยอดการค้ำประกันสินเชื่อ 10 จังหวัด ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 – 7 ก.ย. 2561 ของ บสย.สำนักงานสาขาอุดรธานี อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 5,058 ราย วงเงินอนุมัติรวม 4,637.52 ล้านบาท คิดเป็น 61.83% ของเป้าหมายรวม เฉพาะในจังหวัดขอนแก่น สามารถช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ โดยอนุมัติค้ำประกันฯ จำนวน 1,380 ราย วงเงินอนุมัติ 922.32 ล้านบาท

สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทรัพย์ (PGS7) ได้รับการตอบรับดีเกินคาด โดยกลุ่มที่มาแรงคือ กลุ่ม SMEs รายเล็ก, กลุ่ม SMEs ทั่วไป และกลุ่ม SMEs ได้รับสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งนี้ จำนวนรายการค้ำประกันสินเชื่อของสำนักงานสาขาอุดรธานี แยกตามประเภทธุรกิจ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 7 ก.ย.2561 สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ จำนวน 1,716 ราย วงเงิน 682.25 บาท 2. สินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 647 ราย วงเงิน 638.53 ล้านบาท 3. การบริการ จำนวน 833 ราย วงเงิน 574.28 ล้านบาท