จุฬาฯตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมเคลียร์ปมขัดแย้ง

จุฬาฯตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมเคลียร์ปมขัดแย้ง

จุฬาฯ เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมสิ่งแวดล้อม อาสาทำหน้าที่หน่วยงานกลางหาข้อยุติปัญหาความขัดแย้งให้กับภาคอุตสาหกรรมและประชาสังคม บนฐานข้อมูลวิชาการจากเทคโนโลยีขั้นสูง

จุฬาฯ เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมสิ่งแวดล้อม อาสาทำหน้าที่หน่วยงานกลางหาข้อยุติปัญหาความขัดแย้งให้กับภาคอุตสาหกรรมและประชาสังคม บนฐานข้อมูลวิชาการจากเทคโนโลยีขั้นสูง

รศ.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า มูลนิธิอรุณ สรเทศน์และสมาคมนิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม ศ.อรุณ สรเทศน์” เพื่อเป็นหน่วยงานวิชาการที่เป็นกลางในการช่วยยุติปัญหาความขัดแย้งให้กับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาครัฐและประชาสังคม ที่มีความเข้าใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ให้สามารถได้ข้อยุติซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย

เบื้องต้นได้เปิดระดมทุน 90 ล้านบาทเพื่อซื้อเครื่องมือวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ทำการวิจัยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การตรวจวัดมลพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ดินและอากาศ รองรับกับอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ 3 ประเภท ได้แก่ ปิโตเลียมและปิโตรเคมี, อาหารและสุขภาพและพลังงานอิเล็กทรอนิกส์

ยกตัวอย่างเช่น โครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่พัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่ไปกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน โครงการ Sensor Weather Station จ.น่าน ที่ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับความร้อน ฝุ่น คาร์บอนไดออกไซด์ต่างๆ ทำให้สามารถปรับแบ่งกำหนดการเผาปรับ พื้นที่เกษตรกรรมได้โดยไม่กระทบมลภาวะมากเกินไป ช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศที่เผชิญกันอยู่

ข้อมูลวิชาการจากศูนย์ฯ จึงเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ผู้นำประเทศสามารถกำหนดแนวทางหรือนโยบาย จัดการมลพิษได้อย่างเหมาะสม ลดข้อพิพาทระหว่างภาคประชาชนกับภาคอุตสาหกรรมในกรณีที่เกิดผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ลดผลกระทบจากมลพิษที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของประชาชน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีจัดการมลพิษให้กับองค์กรหรือภาคอุตสาหกรรม ทำให้สามารถลดต้นทุนการจัดการมลพิษและยกระดับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ด้าน รศ.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมว่า ภาควิชาฯ ได้พัฒนาและติดตั้งเครือข่ายเซนเซอร์ตรวจวัดหมอกฝุ่นควันในพื้นที่ จ.น่าน จำนวน 95 ตำบลทำงานแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งกำหนดนโยบายการ ป้องกันปัญหาได้ดีกว่าเดิม

ข้อดี คือ ประชาชนในพื้นที่รู้ตัวก่อนเกิดผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพสามารถเตรียมตัวรับมือได้ถูกต้องเหมาะสม ขณะที่ผู้บริหารสามารถมีข้อมูลในการวางแผนและตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ

ทางคณะทำงานทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลกลาง กรณีในพื้นที่ต้องการพัฒนาแอพพลิเคชันสำหรับแสดงผลและแจ้งเตือนค่าคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดได้ ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ที่อยู่พื้นที่ได้รับทราบ เพื่อวางแผนและปรับปรุงระบบในพื้นที่ต่อไป ซึ่งความต้องการของกลุ่มผู้ใช้แต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน

ในส่วนของทีมวิจัย มีเป้าหมายที่จะตั้งเป็นศูนย์สอบเทียบมาตรฐานการทดสอบอุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัดมลพิษทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีวางจำหน่ายจำนวนมาก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้ใช้งานทั้งประชาชนทั่วไป รวมถึงหน่วยงานราชการที่นำไปใช้ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจของศูนย์ความเป็นเลิศฯ ที่ตั้งขึ้นมาแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ