‘นครพนม’นำร่อง โรงปลูกสมุนไพรอัจฉริยะ

‘นครพนม’นำร่อง โรงปลูกสมุนไพรอัจฉริยะ

‘นครพนม’จะเป็นจังหวัดแรกที่กำลังจะมีโรงเรือนผลิตพืชอัจฉริยะหรือแพลนท์แฟคทอรี (Plant Factory) รูปแบบระบบปิด 100% นำร่องปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเน้นให้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพปริมาณมากและมีความสม่ำเสมอ ส่ง รพ.เรณูนคร ผลิตยาสมุนไพรป้อนระบบสาธารณสุข

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ จังหวัดนครพนม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจสมุนไพรไทย ส่งเสริมสังคมคุณภาพ และเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ” เพื่อพัฒนาระบบการผลิตสมุนไพรคุณภาพด้วยโรงปลูกผักระบบปิด รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสมุนไพรและการใช้สมุนไพรครบวงจร

เปิดประตูสู่ภูมิภาค

สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวว่า แพลนท์แฟคทอรี มีข้อดีในเรื่องของความสามารถผลิตพืชประสิทธิภาพสูงทั้งด้านอัตราการผลิต การใช้ทรัพยากรการผลิตและสามารถเพิ่มคุณภาพของพืชเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิต อาทิ การเพิ่มวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดที่ใช้เป็นยารักษาโรค

หลายประเทศจึงมีการลงทุนเพื่อใช้สำหรับการผลิตพืชสมุนไพรมูลค่าสูง เช่นเดียวกับไบโอเทคที่มีแนวคิดในการนำมาใช้ผลิตพืชสมุนไพร โดยเปิดแห่งแรกที่อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่จะแล้วเสร็จ ธ.ค.นี้

“นครพนมถือเป็นแห่งแรกที่เราจะขยายแพลนท์แฟคทอรีไป จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงปลายปีนี้ เงินลงทุนประมาณ 3 ล้านบาทจากโครงการบิ๊กร็อก คาดว่าจะพร้อมดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562

โดยทางจังหวัดจัดหาพื้นที่ใน ต.นาราชควาย เป็นที่ตั้งและเตรียมบุคลากร โดยจะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของ อบต. นาราชควาย ที่จะดำเนินการโรงงานผลิตพืชนี้”

ทั้งนี้ เทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชจะช่วยพัฒนาการผลิตวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพ และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีคุณภาพเต็มประสิทธิภาพครบวงจรยิ่งขึ้น โดยจะนำร่องที่ “ฟ้าทะลายโจร” ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้มากในพื้นที่

ทางด้านนายแพทย์พรพจน์ สารทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเรณูนคร กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้ผลิตสมุนไพรใช้เองและกระจายในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมาเป็นเวลากว่า 20 ปี มีการส่งเสริมการปลูกและแปรรูปในท้องถิ่น เพื่อป้อนโรงผลิต และโรงพยาบาลได้ประกาศใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน โดยมุ่งผลิตยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันตามประกาศบัญชียาหลักเพื่อจะลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้มีความต้องการขยายเป็นแหล่งผลิตสมุนไพรกระจายไปยังภาคอีสานและทั่วประเทศอีกด้วย

“ปัจจุบันเราใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ 6 ตัว โดยมีมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรของโรงพยาบาล ปี 2561 ประมาณ 1.5 ล้านบาท หรือราว 10% ของมูลค่ายาที่ใช้ในโรงพยาบาลทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันมีความต้องการใช้วัตถุดิบสมุนไพรในปริมาณมาก ประกอบกับวัตถุดิบในชุมชนที่ผ่านมาตรฐานจีเอพีมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงผลิต จึงจำเป็นต้องรับซื้อจากบริษัทเอกชนรายใหญ่ โดยเฉพาะฟ้าทะลายโจรที่ต้องการใช้ปริมาณมาก”

โอกาสยาสมุนไพรไทย

สมชาย วิทย์ดำรง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า นครพนมมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการเกษตร ส่งผลให้มีพืชสมุนไพรท้องถิ่นที่มีประโยชน์ เกิดภูมิปัญญาด้านการแพทย์พื้นบ้านที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้สมุนไพรรักษาโรค

ทางจังหวัดได้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจสมุนไพร ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง สนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อสร้างโอกาสด้านอาชีพแก่ผู้สูงอายุ ด้วยกิจกรรมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการปลูกพืชสมุนไพรที่เป็นที่ต้องการ โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่ม

ปัจจุบันมีการส่งสมุนไพรให้กับผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน รวมถึงส่งให้กับ รพ.เรณูนคร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาสมุนไพรให้แก่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งภายในจังหวัดกว่า 163 แห่งและจังหวัดใกล้เคียง ด้านการแปรรูป ได้ส่งเสริมโรงงานแปรรูปสมุนไพรที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพีที่ รพ.เรณูนคร มีมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในหน่วยบริการสาธารณสุขในปี 2561 ทั้งสิ้นกว่า 17 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น ยาขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ไพล รางจืด เป็นต้น

“เมื่อระบบต่างๆ ติดตั้งแล้วเสร็จ ทางจังหวัดจะรับหน้าที่ดำเนินการต่อ ส่วนผลผลิตที่ได้จะส่งต่อให้ รพ.เรณูนครเพื่อผลิตเป็นยาสมุนไพรต่อไป ในอนาคตอาจจะขยายเพิ่มพืชสมุนไพรอื่น อาทิ พลูคาว ที่มีสรรพคุณต้านไวรัส สำหรับรักษาหวัด” สมชาย กล่าว