รวบ 20 โจ๋ ตั้งแก๊งแฮกเฟชบุ๊ก หลอกโอนเงินวอลเล็ท

รวบ 20 โจ๋ ตั้งแก๊งแฮกเฟชบุ๊ก หลอกโอนเงินวอลเล็ท

รวบ 20 โจ๋ ตั้งแก๊งแฮกเฟชบุ๊ก หลอกโอนเงินวอลเล็ท เหยื่อทั่วประเทศเสียหาย 7 ลบ.

พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผอ.กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ และนายอธิปัตย์ พลอยพรายแก้ว ผอ.ฝ่ายบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบทุจริต บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกันแถลงข่าวเตือนภัยการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ใช้นำมาเผยแพร่ในสังคมออนไลน์จนตกเป็นผู้เสียหาย ถูกหลอกให้โอนเงินผ่านระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือวอลเล็ท

พ.ต.ท.วิชัย กล่าวว่า มีผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์กับดีเอสไออ้างว่าตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวง วงเงินเสียหาย 7 ล้านบาท จึงได้เร่งสอบสวนจนพบว่ามีการหลอกลวงผู้เสียหายผ่านเฟชบุ๊กและมีผู้เสียหายกระจายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยคนร้ายเป็นกลุ่มเยาวชนประมาณ 20 คน มีอายุระหว่าง 15-16 ปี อยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี หัวโจกมีประวัติกระทำความผิดตั้งแต่มัธยมปลายต่อเนื่องไปถึงมหาวิทยาลัย ขณะที่รูปแบบการกระทำความผิดเป็นขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันทำตั้งแต่เปิดเพจรับสมัครงานและให้ผู้สมัครเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับโอนเงิน เมื่อมีเงินโอนเข้ามาให้โอนเข้าวอลเล็ท จะได้รับค่าตอบแทนวันละ 500-1,000 บาท หรือแฮกข้อมูลส่วนบุคคลจากเฟชบุ๊กแล้วสวมตัวเข้าไปขอยืมเงิน หลอกขายสินค้าออนไลน์ขอยืมเงิน หรือปลอมเป็นเพจของบริษัทใหญ่ หลอกเหยื่อว่าได้รับรางวัลทองคำหรือรถยนต์ จากนั้นจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงหน้า เมื่อมีผู้หลงเชื่อก็จะให้โอนเงินไปบัญชีผู้ที่ถูกหลอกให้สมัครงาน ส่วนกลุ่มที่ 2 ถูกหลอกลวงให้ซื้อซิมโทรศัพท์มือถือก่อนเข้าไปสืบค้นหมายเลขบัตรประชาชนจากกูเกิลและผูกซิมการ์ดเข้ากับวอลเลท
 
 

     

     รวบ 20 โจ๋ ตั้งแก๊งแฮกเฟชบุ๊ก หลอกโอนเงินวอลเล็ท

"กลุ่มคนร้ายจะใช้ร้านเกมหรือร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่เป็นสถานที่กระทำผิด เพื่อป้องกันการถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เนื่องจากร้านเกมและเน็ตคาเฟ่มักไม่เก็บข้อมูลการใช้งานของลูกค้า ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้เก็บข้อมูลไว้ตรวจสอบ 90 วัน ทั้งนี้ ร้านอินเตอร์เน็ตที่ถูกใช้เป็นแหล่งมั่วสุมกระทำความผิดได้ถูกปิดไปแล้ว แต่ยังไม่พบว่าเจ้าของร้านเกมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด พบแค่ความบกพร่องละเลยเท่านั้น"พ.ต.ท.วิชัยกล่าว

ด้านนายอธิปัตย์ กล่าวว่า บริษัททรูฯ เข้มงวดดูแลความปลอดภัยให้ลูกค้าที่จะทำการโอนเงินออนไลน์ จึงขอแจ้งเตือนประชาชนทั่วไปให้ระมัดระวังภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัว โดยให้ระมัดระวังการลงข้อมูลส่วนบุคคลในสื่อสังคมออนไลน์ เพราะคนร้ายอาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการกระทำความผิดได้ เช่น ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ รูปถ่ายบัตรประชาชน รวมถึงรูปถ่ายส่วนตัวของตนและบุคคลในครอบครัว เพราะปัจจุบันผู้ที่ต้องการเป็นเน็ตไอดอล ได้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในสื่อออนไลน์ ซึ่งคนร้ายไม่ได้อยากเป็นเพื่อนกับคุณ แต่ต้องการนำข้อมูลไปใช้กระทำความผิด ขณะที่การตั้งรหัสผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ควรใช้รหัสผ่านที่คาดเดาได้ง่าย เช่น หมายเลขโทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด หรือรหัสประจำตัวนักเรียน/นักศึกษา

นายอธิปัตย์ กล่าวอีกว่า เมื่อมีเพื่อนหรือคนรู้จักขอยืมเงินผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรมีการติดต่อไปยังบุคคลดังกล่าวทางช่องทางอื่นเพื่อเป็นการยืนยันตัวตน ไม่ควรรีบโอนเงินให้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโอนเงินเข้าชื่อบัญชีธนาคารของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ชื่อของเพื่อนที่ติดต่อมายืมเงิน และเมื่อพบเห็นเฟชบุ๊กหรือเว็บไซต์รับสมัครงาน ให้ตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวมีตัวตนจริงหรือไม่ มีที่ตั้งอยู่ที่ใด ลักษณะของงานที่ทำเป็นอย่างไร ช่องทางการติดต่อกับบริษัทมีช่องทางที่สามารถยืนยันตัวตนได้นอกจากทางเฟชบุ๊คหรือทางไลน์หรือไม่ หากไม่แน่ใจ ไม่ควรส่งสำเนาบัตรประชาชน หมายเลขบัญชีธนาคารให้โดยเด็ดขาด

"ขอให้ระวังการหลอกลวงที่กำลังแพร่ระบาด คือการขายสินค้าไอที สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ราคาถูก เช่น โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป นาฬิกา และสินค้าแบรนด์เนมอื่นๆ โดยจะโฆษณาว่าลดราคา 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เหยื่อหลงเชื่อ โอนเงินไปชำระซื้อแต่สุดท้ายไม่ได้รับสินค้า สำหรับการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตไวไฟฟรีในสถานที่ต่างๆ ยังไม่ถึงกับอันตราย เพราะผู้ให้บริการต่างๆ จะพัฒนาแอปพลิเคชั่น ซึ่งการทำธุรกรรมบางอย่างไม่สามารถทำได้เมื่อเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเตอร์เน็ตฟรี และทุกครั้งที่ทำธุรกรรมผ่านทางแอปพลิเคชั่นระบบจะถามข้อมูล เพื่อให้เจ้าของบัญชีกรอกข้อมูลยืนยันทุกครั้ง"นายอธิปัตย์กล่าว