อย.ชี้แจงกรณีมีข่าวพบผู้ป่วยสูญเสียดวงตาจากการติดเชื้อรุนแรง

อย.ชี้แจงกรณีมีข่าวพบผู้ป่วยสูญเสียดวงตาจากการติดเชื้อรุนแรง

เลขาธิการ อย.ชี้แจงประเด็นอันตรายจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แนะให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางตาโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดสรรพคุณรักษาโรคร้าย

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงประเด็นอันตรายจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จากกรณีมีข่าวจากสื่อทีวีและหนังสือพิมพ์ พบผู้ป่วยสูญเสียดวงตาจากการติดเชื้อรุนแรง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “พลูคาว” มาหยอดตาเพื่อรักษาอาการต้อกระจก

การดำเนินงานของ อย. ต่อกรณีดังกล่าว อย. ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ตามที่เป็นข่าว คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อ คอลดาต้า (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำพลูคาว) ผลิตโดยร้านคิงส์เฮิร์บ จังหวัดขอนแก่นซึ่ง อย. ได้เคยดำเนินคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการโฆษณากับผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายแล้ว และในวันนี้ (6 ก.ย.61) อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ได้เข้าตรวจสอบสถานที่ผลิต พบว่าปิดปรับปรุงโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ จึงได้เชิญผู้ประกอบการมาให้ถ้อยคำแล้ว ส่วนสถานที่จำหน่าย อย. ได้เข้าตรวจสอบ บ.คิงส์ เฮิร์บเวิลด์ 1999 พบเป็นสถานที่จำหน่ายแบบขายตรง สนญ.อยู่ที่ขอนแก่น และพบจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามที่เป็นข่าว จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์หายาและสเตียรอยด์ นอกจากนี้ ยังพบแผ่นพับที่โฆษณาสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จึงได้เก็บหลักฐานส่งดำเนินคดีกับผู้รับอนุญาตและผู้แทนจำหน่าย หากพบการปลอมปนยาหรือสารอันตราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากพบการแสดงคุณภาพ สรรพคุณ คุณประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ทำให้เข้าใจว่ามีผลในการรักษา บำบัด บรรเทา รักษาโรค จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะพิจารณาเพิกถอนเลขสารบบอาหารต่อไป ตลอดจนประสานไปยัง สคบ. เพื่อตรวจสอบการจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรง และประสานไปยังหน่วยงานกำกับดูแลสื่อ ทั้ง กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินการตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ อย.มีคำแนะนำให้แก่ประชาชนว่า ขอให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางตา โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อไปใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งไม่มีสรรพคุณในการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ อาจทำให้โรคตาที่เป็นอยู่มีความรุนแรงขึ้น เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง วิธีการที่ดีที่สุด ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง และอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดสรรพคุณรักษาโรคร้าย เนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ยา