จีเอสเอ็มเอแนะไทยเปิดเสรี ‘ข้อมูลข้ามแดน'

จีเอสเอ็มเอแนะไทยเปิดเสรี ‘ข้อมูลข้ามแดน'

กฏเกณฑ์ข้อบังคับที่สมดุลจะส่งผลเชิงบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

รายงานล่าสุดโดย “สมาคมจีเอสเอ็ม(จีเอสเอ็มเอ)” ระบุว่า รัฐบาลในกลุ่มประเทศเอเชียสามารถขยายเศรษฐกิจเชิงดิจิทัลของภูมิภาคและสร้างประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น หากยกเลิกข้อกำหนดที่ไม่เป็นจำเป็นสำหรับควบคุมการไหลของข้อมูลระหว่างประเทศ

บอริส วอยแทน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายข้อมูลส่วนบุคคล สมาคมจีเอสเอ็ม(จีเอสเอ็มเอ) กล่าวว่า การเปิดให้มีการรับส่งข้อมูลอย่างเสรีจะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกระตุ้นธุรกิจดิจิทัลระดับท้องถิ่น รวมไปถึงป้องกันการก่อการร้ายที่อาจเกิดขึ้น

เขากล่าวว่า ในทางปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพพร้อมลดความเสี่ยง ประเทศไทยจำต้องเพิ่มความยืดหยุ่นในกฏเกณฑ์ โดยสอดคล้องไปกับนโยบายระดับเอเชียแปซิฟิก หรืออยู่ภายใต้กรอบข้อตกลงระดับอาเซียนก็ได้

ปัจจุบัน ระดับเอเชียแปซิฟิกได้จัดทำเฟรมเวิร์คการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว แต่อาเซียนยังไม่มี ดังนั้นหวังว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งหากมีความสอดคล้องกันไปในทุกประเทศ นอกจากข้อมูลจะได้รับความคุ้มครองแล้ว จะมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและภูมิภาค

“ไทยกำลังก้าวไปเป็นประธานอาเซียนซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดนโยบายระดับภูมิภาค อีกทางหนึ่งกำลังจะผ่านกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งข้อมูลข้ามพรมแดนจึงหวังว่าไทยจะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ด้วย”

ผนึกกำลังก้าวข้ามข้อจำกัด

วอยแทนกล่าวว่า การไหลเวียนของข้อมูลและเศรษฐกกิจเชิงดิจิทัลสามารถก่อให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลอย่างที่ไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้ ดังนั้นความร่วมมือด้านมาตรการข้อมูลส่วนบุคคลที่ครอบคลุมทั่วทั้งเอเชียเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศต่างๆ หลุดพ้นจากอุปสรรคที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงจำกัดแค่เอเชียเท่านั้น ทว่าส่งผลไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กำหนดขึ้นเองจากแต่ละประเทศเพื่อควบคุมและบังคับการใช้ข้อมูลของประชากรในประเทศนั้นๆ จะเป็นการตีกรอบจำกัดความสามารถขององค์กรต่างๆ ในการนำเสนอสินค้าและบริการสู่ผู้บริโภคในอนาคต

“ถึงเวลาแล้วที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันหามาตรการในการปิดช่องว่างความแตกต่างระหว่างกฏข้อบังคับด้านข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวที่แข็งแกร่งมากขึ้น เช่นเดียวกับโลกไซเบอร์ ความมั่นคงบนไซเบอร์ไม่ควรมีพรมแดน และควรแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด”

จีเอสเอ็มเอเผยว่า การทำให้กฏเกณฑ์ข้อบังคับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมีความสมดุลกันสามารถส่งผลเชิงบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างความก้าวหน้าทางนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี 5จี อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) และปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)

ข้อมูลระบุด้วยว่า ช่วงศตวรรษที่ผ่านมา การไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดนช่วยให้จีดีพีโลกเติบโตขึ้นราว 10% คิดเป็นมูลค่ากว่า 91.62 ล้านล้านบาทของจีดีพีโลก ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าตัวเลขของการค้าผลิตภัณฑ์ทั่วโลก ความสามารถในการโอน จัดเก็บ และประมวลผลข้อมูล เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการทำการค้า ส่งเสริมนวัตกรรม และผลักดันให้เกิดการพัฒนาการด้านเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์ม และบริการใหม่ๆ

‘ควบคุม’อาจไม่ใช่คำตอบ

จีเอสเอ็มเอแนะถึงมาตรการสำคัญที่ทุกประเทศ รวมถึงประเทศที่กำลังพัฒนาควรสนับสนุนและร่วมมือในการนำมาปฏิบัติใช้ เพื่อผลักดันให้เอเชียสามารถเดินไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกันได้ดีขึ้น ประกอบด้วย ร่วมกันปิดช่องว่างความแตกต่างด้านข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศตนเองและเชื่อมโยงกับข้อกำหนดระดับภูมิภาค

พร้อมกันนี้ ควรพัฒนากฏข้อบังคับด้านข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยทำการวิเคราะห์ภูมิทัศน์ด้านข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศตนว่าเป็นอย่างไร และศึกษาประสบการณ์ของรัฐบาลประเทศอื่นในภูมิภาคเพื่อทำความเข้าใจและกำหนดทิศทางอนาคตร่วมกัน

ขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายในภาครัฐและผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายควรร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ด้านรัฐบาลควรชี้แจงแก่ผู้เชี่ยวชาญด้านการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลทั้งจากภาคเอกชนและภาควิชาการถึงแนวทางปฏิบัติต่างๆ

เอมานูเอลลา เลคจิ รักษาการประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สมาคมจีเอสเอ็ม เสริมว่า เมื่อพูดถึงความมั่นคง ภาครัฐส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นเข้าไปควบคุมมากกว่าการทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย 

เกิดคำถามคือ การเก็บข้อมูลไว้เพียงแหล่งเดียวมีความปลอดภัยจริงหรือ หรือจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเนื่องจากแฮกเกอร์ย่อมรู้แน่ชัดว่าข้อมูลถูกจัดเก็บไว้ที่ใด