วสท.ติงแบบ เทอร์มินัล2 จุดเสี่ยงปัญหาไฟไหม้สูง

วสท.ติงแบบ เทอร์มินัล2 จุดเสี่ยงปัญหาไฟไหม้สูง

เวทีเสวนา วสท.ชี้แบบสถาปัตยกรรมอาคารเทอร์มินัล 2 มีจุดเสี่ยงปัญหาด้านความปลอดภัยหากเกิดเพลิงไหม้ แนะศึกษาข้อมูลเพื่อออกแบบทางวิศวกรรม สถาปัตยกรรมและระบบให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ามุ่งความสวยงาม

กรณีผลงานการออกแบบอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินัล) หลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ จากบริษัท DBALP โดยนายดวงฤทธิ์ บุญนาค สถาปนิกชื่อดังของไทย ที่ได้รับคัดเลือกให้ชนะการแข่งขันแต่ต่อมามีผู้คัดค้านกระทั่งนำไปสู่การยื่นฟ้องศาลปกครอง

นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวในการเสวนา “เทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ ... ความท้าทายทางวิศวกรรมและความปลอดภัย” ว่า การออกแบบและก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจคที่มีคุณภาพ ต้องเป็นงานออกแบบที่ชาญฉลาด ซึ่งมาจากการศึกษาวิจัยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ออกแบบทางวิศวกรรม สถาปัตยกรรมและระบบเพื่อแก้ไขปัญหาและสนองต่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย ไม่ได้มุ่งเพียงภาพความสวยงามเท่านั้น เนื่องจากอาคารเหล่านี้จะอยู่กับเราไปอีกกว่า 50-100 ปี ในการออกแบบและก่อสร้างจึงต้องมุ่งการออกแบบเพื่อบริหารจัดการมากกว่าให้ความสำคัญกับการตกแต่ง รวมทั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการเป็นสำคัญ มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการเทอร์มินัลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแออัด เมื่อนักท่องเที่ยวเพิ่มในอนาคต เช่น ประสิทธิภาพการลำเลียงผู้โดยสารและสัมภาระ ส่วนคุณค่าความเป็นประเทศไทยนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นไทยดั้งเดิม อาจเป็นไทยโมเดิร์นหรือไทยสากลก็ได้


ด้านนายเกชา ธีระโกเมน อุปนายก วสท. กล่าวว่า ประเด็นอาคารเทอร์มินัล 2 จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้เห็นมีการใช้ไม้จำนวนมากเป็นองค์ประกอบสำคัญ จึงกังวลด้านอัคคีภัยจากการใช้ไม้เป็นท่อน ๆ จำนวนมากเรียงประกอบกันที่หัวเสาและเพดาน หากเกิดไฟไหม้จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงอันตราย เนื่องจากไม้เป็นท่อนเล็กๆ มีพื้นที่ผิวมากกว่าไม้ท่อนเดียว ทำให้ติดไฟได้เร็วและขนาดไฟใหญ่รุนแรงกว่ามาก ขณะที่ระบบดับเพลิงตามมาตรฐานทั้งจาก Sprinkler และ Hose system ไม่สามารถรองรับขนาดไฟที่เกิดขึ้นได้ในระยะเริ่มต้น จึงควรจะเลือกใช้วัสดุอื่นมาทดแทนไม้ “ผมได้เห็นภาพแบบของอาคารเทอร์มินัล 2 ใช้ไม้เป็นจำนวนมาก ไม้เป็นวัสดุติดไฟ ในวงการก่อสร้างมักไม่ใช้เพื่อหุ้มโครงสร้างเหล็กภายในตัวอาคาร ด้วยมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอัคคีภัย โดยเฉพาะเมื่อมองจำนวนที่ปรากฏในภาพ จะมี Fire Load สูงมาก การจะมองหาทางแก้ที่ปลายเหตุ เช่น ใช้ระบบสปริงเกอร์มาติดไว้ แต่ก็ไม่อาจช่วยได้มากเมื่อเทียบกับปริมาณวัสดุติดไฟที่มีมากตามรูปที่เห็น”


ทั้งนี้ อาคารผู้โดยสารถือเป็นอาคารชุมนุมคนและมีคนในเวลาเดียวกันหลายหมื่นคน มาตรฐานสากล NFPA 101 ของสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา จึงกำหนดให้วัสดุตกแต่งผิวที่ลุกลามไฟช้าประเภท A หรือ B เท่านั้น แต่ไม้จัดเป็นประเภท C เช่นเดียวกับโฟม ฟองน้ำและพลาสติก ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในโถงหรือทางเดินหรือช่องบันได กรณีมีคนจำนวนมากกว่า 300 คน


นายเอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวว่า ท่าอากาศยานในอนาคตจะมีความเป็น E-Terminal ต้องการการเชื่อมต่อไปยังจุดต่างๆ เพื่อให้ระบบการขนส่งลำเลียงผู้โดยสารเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพและสร้างความพึงพอใจสูงสุด ประหยัดพลังงาน ขณะที่ผู้โดยสารต้องการเดินทางสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนการเช็คอิน เช็คเอาท์ ประหยัดเวลา เกิดความอุ่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความพึงพอใจจากประสบการณ์ใหม่ๆ ในท่าอากาศยานและการเที่ยวชมสินค้าปลอดภาษี จะเห็นว่าในระยะ 15 ปี ท่าอากาศยานในนานาประเทศได้เปลี่ยนโฉมไปอย่างมาก โดยเฉพาะพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ประกอบไปด้วย ไอโอที บิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ ดังนั้น บริการในท่าอากาศยานของไทยควรคำนึงถึงอนาคตของวิศวกรรมและเทคโนโลยีที่กำลังจะมาถึง


ยกตัวอย่าง เทอร์มินัล 4 ของท่าอากาศยาน ชางอี สิงคโปร์ ผู้โดยสารสามารถเช็คอินด้วยตนเองผ่านระบบอัตโนมัติที่ทันสมัยรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ ทั้งยังสื่อภาพลักษณ์ความเป็นตัวตน และความทันสมัยของสิงคโปร์ได้อย่างลงตัว ขณะที่สนามบินปักกิ่งแห่งใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง และจะเปิดบริการในกลางปี 2562 ได้ออกแบบโครงสร้างและการเชื่อมต่อให้ร่นระยะเวลาขนส่งสัมภาระเหลือเพียง 13 นาที หลังจากเช็คอินหรือเครื่องลงจอด และการเดินทางจากด่านตรวจศุลกากรไปยังประตูทางออกขึ้นเครื่องด้วยเวลาเพียง 8 นาที เท่านั้น ดังนั้น อาคารเทอร์มินัล 2 ที่จะสร้างขึ้นใหม่นี้ จึงควรเทคโนโลยีที่จะเอื้อให้ทราฟฟิกในตัวอาคารเป็นไปอย่างสะดวก ลดความแออัด และช่วยให้นักเดินทางหรือผู้ใช้สนามบินมีความสะดวกสบาย มีระบบการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่น ซึ่งนอกจากรถยนต์นั่งส่วนตัวควรคำนึงถึงที่จอดรถตู้ รถโดยสารขนาดใหญ่ เชื่อมโยงกับระบบราง อีกทั้งในอนาคตอาจมีนิคมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงใกล้ๆ สนามบิน ที่ต้องการคลังสินค้าศุลกากรและระบบต่างๆ ทั้งควรพิจารณาระบบโครงสร้างและการตกแต่งที่ใช้วัสดุที่เหมาะสม ดูแลบำรุงรักษาง่าย ระบบวิศวกรรมอัจฉริยะที่ช่วยลดการใช้พลังงานอีกด้วย