ยางพาราสูตรใหม่ ทางเลือกวงการแอนิเมชั่น

ยางพาราสูตรใหม่ ทางเลือกวงการแอนิเมชั่น

ตัวละครสต็อปโมชั่นในภาพยนตร์แอนิเมชั่นหลายเรื่อง ต้องใช้ซิลิโคนนำเข้าราคาสูง นักวิจัย ม.นเรศวร พัฒนาสูตรยางพาราที่มีพื้นผิวสวยงาม สามารถขึ้นรูปและใส่สีได้ตามต้องการในราคาที่ถูกกว่าซิลิโคนนำเข้า 50%

หวังเป็นทางเลือกในวงการศิลปะ การออกแบบและเอฟเฟคต์พิเศษ

“หากมองอุตสาหกรรมภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่มีการใช้ซอฟต์แวร์ในการทำงานนั้น จะเห็นการพัฒนาทุกปี ราคาสูงขึ้นทุกปี ทำให้งานด้านแอนิเมชั่นไทยยังมีไม่มาก ด้วยต้นทุนเรื่องซอฟต์แวร์ แต่จุดเด่นของคนไทยคือ งานศิลปะและงานทำมือ ทำให้มีโอกาสสำหรับงานด้านสต็อปโมชั่น (Stop Motion) ที่ใช้การปั้นขึ้นรูปตัวละคร ถ่ายทำทีละเฟรมแล้วตัดต่อ โดยไม่ต้องอาศัยโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ” ผศ.วิสิฐ จันมา อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าว

แต่ต้นทุนซิลิโคนสำหรับงานสต็อปโมชั่นก็สูงมาก จึงเกิดเป็นโจทย์วิจัยในการนำยางพาราของไทยมาทดแทน

นวัตกรรมเพิ่มทางเลือก

ผศ.วิสิฐ กล่าวว่า วัสดุหลักที่ใช้ในอุตสาหกรรมสต็อปโมชั่นแอนิเมชั่น ในการทำงานสร้างผิวเนื้อตัวละคร ได้แก่ วัสดุซิลิโคน ซึ่งมีราคา 650 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาน้ำยางพาราประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้มีโอกาสที่จะสร้างวัสดุทดแทนในราคาที่ถูกลงและยังได้ใช้วัตถุดิบในประเทศ

คุณสมบัติอื่นๆ ของวัสดุยางซิลิโคนคือ การยืดหยุ่น การหดตัว การแห้ง อยู่คงรูปทรง มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับยางพารามาก แต่ก็ยังมีปัญหาคือ ยางพาราเมื่อแห้งแล้วจะแข็ง ไม่คงตัว ไม่สามารถดัดท่าทาง จึงจับมือกับ “ผศ. ช.วยากรณ์ เพ็ชญไพศิษฏ์” ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ในการพัฒนาสูตรยางพาราที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับซิลิโคน

โจทย์หลักคือ น้ำยางพาราที่มีความยืดหยุ่น แต่คงตัวทำให้สามารถดัดท่าทางได้ ในขณะเดียวกันก็มีพื้นผิวที่เรียบ ใกล้เคียงกับซิลิโคนที่เป็นเบสน้ำมัน โครงการวิจัย “การพัฒนายางพาราเพื่อออกแบบพื้นผิวและสีของตัวละครสำหรับภาพยนตร์แอนิเมชั่นเทคนิคสต็อปโมชั่น” จึงเกิดขึ้น

การพัฒนาสูตรน้ำยาง ทำมากว่า 12 แบบ โดยความท้าทายนั้นเจ้าของโครงการวิจัยชี้ว่า เป็นเรื่องของน้ำยางพาราที่ต้องทำให้มีความหนืดที่เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์เรื่องการไหลลงสู่แม่พิมพ์ และเมื่อแห้งแล้วต้องมีผิวเรียบสวย กระทั่งสามารถพัฒนาสูตรน้ำยางแห้งได้สำเร็จ เทียบชั้นซิลิโคนเกรดที่ใช้ในงานสต็อปโมชั่น แต่มีความคงตัวและยืดหยุ่นมาก

นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาเรื่องของสี เพราะการทำสีลงสียางซิลิโคนนั้น ยังไม่มีการศึกษาวิจัยและผลิตขึ้นในประเทศไทย การจะใช้งานต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ น้ำหนัก 25 ออนซ์หรือราว 700 กรัม ราคาประมาณ 2,500 บาท ความแตกต่างในเรื่องราคามีค่อนข้างสูง แต่ยางพาราสูตรที่พัฒนาขึ้นนั้น สามารถใช้กับสีจากยางพาราที่เป็นนวัตกรรมไทยและมีอยู่ในท้องตลาดได้ ทำให้เกิดการต่อยอดเป็นเฉดสีต่างๆ ตามที่ต้องการ

เพิ่มมูลค่ายางพาราไทย

เมื่อเทียบต้นทุน ผศ.วิสิฐ กล่าวว่า ยางพาราที่จะนำไปใช้ในงานสต็อปโมชั่นจะถูกกว่าซิลิโคนนำเข้าถึง 50% หวังจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับงานทางด้านสต็อปโมชั่น และงานที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม งานด้านประติมากรรม งานหัตถศิลป์ งานปราณีตศิลป์ประเภทต่างๆ รวมถึงสเปเชียลเอฟเฟคต์

ทีมวิจัยเตรียมที่จะจดสิทธิบัตรสูตรน้ำยางแห้งนี้ และหวังที่จะสปินออฟไปสู่ธุรกิจนวัตกรรม ที่ส่งต่อผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ หลังส่งให้เพื่อนทดลองใช้ และมีฟีดแบคที่ดี ได้รับความสนใจมากโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่นำไปใช้ในงานสเปเชียลเอฟเฟคต์

“โดยปกติแล้ว การส่งออกยางพารามักจะเป็นการแปรรูปขั้นต้น ทำให้การแข่งขันส่งออกเพิ่มสูงขึ้นของประเทศต่างๆ ทั่วโลก การส่งเสริมการนำยางธรรมชาติมาผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรม จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มการใช้ยางพาราที่ผลิตได้ในประเทศ ไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือนำเข้าองค์ความรู้จากต่างประเทศ และเป็นโอกาสที่เราจะต่อยอดนวัตกรรมไทย ทำตลาดในต่างประเทศได้ในอนาคต” ผศ.วิสิฐ กล่าว