ศาลออกหมายจับ'พ.ต.อ.'เบี้ยวฟังฎีกา คดี6ตร.ฆ่าแขวนคอ ยุคสงครามปราบยาบ้า

ศาลออกหมายจับ'พ.ต.อ.'เบี้ยวฟังฎีกา คดี6ตร.ฆ่าแขวนคอ ยุคสงครามปราบยาบ้า

ญาติยังผวาถูกคุกคาม! ศาลออกหมายจับ "พ.ต.อ." เบี้ยวฟังฎีกา คดี6ตร.ฆ่าแขวนคอ ยุคสงครามปราบยาบ้า เผยกลัวตำรวจกลุ่มนี้เพราะบางคนยังรับราชการอยู่

6 ก.ย.61 - ที่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีคดีฆ่าอำพรางแขวนคอ ผู้ต้องหาวัยรุ่น 17 ปี หมายเลขดำ อ.3252/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 และนายกิตติศัพท์ ถิตย์บุญครอง บิดาผู้เสียชีวิต เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 54 ปี , ด.ต.สุดธินันท์ โนนทิง อายุ 49 ปี , ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 48 ปี , พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 57 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ , พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 68 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 51 ปี อดีต รอง ผกก. สภ.เมืองกาฬสินธุ์ (ยศ-ตำแหน่งทั้งหมด ขณะเกิดเหตุ) เป็นจำเลยที่ 1- 6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลไม่ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 200 , 289(4) ประกอบ มาตรา 83 , 89, 90 ,91
ตามฟ้องอัยการโจทก์ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.52 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า วันที่ 22 ก.ค.47 จำเลยที่ 1-3 และจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์จักรยานยนต์ ขณะนำตัวออกจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการบีบรัดคอจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต เหตุเกิดที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จากนั้นจำเลยทั้งหก ได้ปิดบังเหตุแห่งการตายของนายเกียรติศักดิ์ และร่วมกันย้ายศพจากท้องที่เกิดเหตุ ไปแขวนคอ ที่กระท่อมนาบ้านบึงโดน หมู่ที่ 5 ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด ต่อมาวันที่ 30 ก.ค.47 - 27 เม.ย.48 จำเลยที่ 4 - 6 ร่วมกันข่มขู่พยานเพื่อให้การเท็จ ระบุว่าในวันที่ผู้ตายถูกทำร้าย ยังพบเห็นผู้ตายที่ตลาดโต้รุ่ง เพื่อให้เชื่อว่าพวกจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต ในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

โดยศาลได้เบิกตัว ด.ต.อังคาร อายุ 54 ปี จำเลยที่ 1 , ด.ต.พรรณศิลป์ อายุ 48 ปี จำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนประหารชีวิต และด.ต.สุดธินันท์ อายุ 49 ปี จำเลยที่ 2 โทษจำคุก 50 ปี มาจากเรือนจำบางขวาง เพื่อฟังคำพิพากษา ขณะที่, พ.ต.ท.สำเภา อายุ 57 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต และพ.ต.ท.สุมิตร อายุ 51 ปี อดีต รอง ผกก. สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ที่ศาลอุทธรณ์จำคุก 5 ปี ซึ่งทั้งสองได้รับประกันตัวชั้นฎีกาคนละ 1 ล้านบาทและศาลกำหนดเงื่อนไขการประกันห้ามจำเลยออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตศาลนั้น ก็ได้เดินทางมาศาลพร้อมฟังคำพิพากษา โดยมีญาติและเพื่อน-ลูกน้องกลุ่มตำรวจ มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วยเต็มห้องพิจารณาคดี ส่วนฝ่ายครอบครัวผู้เสียชีวิตก็มีมาศาลเช่นกัน และมีนักสิทธิมนุษยชน เช่น นางอังคณา นีละไพจิตร และกลุ่มสิทธิมนุษยชนอื่น ก็มาสังเกตการณ์และติดตามคดีในวันนี้ด้วย

ส่วน พ.ต.อ.มนตรี อายุ 68 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 5 ที่ศาลอุทธรณ์จำคุก 5 ปี ซึ่งได้รับประกันตัวชั้นฎีกา 1 ล้านบาทและกำหนดเงื่อนไขการประกันห้ามออกนอกราชอาณาจักรเช่นกันนั้น ไม่ได้มาศาล

ทั้งนี้เมื่อถึงเวลานัดแล้ว พ.ต.อ.มนตรี อายุ 68 ปี จำเลยที่ 5 และนายประกันก็ไม่มาศาล ซึ่งศาลได้สอบถามทนายความแล้วบอกว่า ก็ไม่สามารถติดต่อกับจำเลยที่ 5 ได้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พ.ต.อ.มนตรี จำเลยที่ 5 ทราบนัดโดยชอบแล้วแต่ไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนนัดคดี ถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับติดตัวมาฟังคำพิพากษาฎีกาต่อไป พร้อมสั่งปรับนายประกันเต็มจำนวน 1 ล้านบาท โดยให้นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่สอง วันที่ 11 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

ภายหลัง นางพิกุล พรหมจันทร์ อาของผู้ตาย กล่าวว่า ตอนนี้รอฟังผลคำพิพากษาวันที่ 11 ต.ค. ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร กังวลว่าครั้งหน้าจำเลยจะมาครบหรือไม่ และหวั่นเกรงเรื่องความปลอดภัยของตนเพราะจำเลยชั้นสัญญาบัตรได้รับการประกันตัวยังมีอำนาจหน้าที่ราชการตำรวจตำแหน่งสูงขึ้นกว่าเดิม เช่น ก่อนพิพากษาอุทธรณ์เป็นรอง ผกก.อำเภอรอบนอกของ จ.กาฬสินธุ์ หลังศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาไม่กี่เดือนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้กำกับสืบสวนสอบสวนภาค 4 ขณะที่เรื่องการคุ้มครองพยาน ตนเคยยื่นเรื่องต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ก็บอกไม่เข้ามาตรการทั่วไป แต่ตามกฎหมายบัญญัติว่าหากจำเลยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน ตนก็ไม่ได้รับการคุ้มครองตั้งแต่มีคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาจนถึงวันนี้ ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ แม้มีกองทุนยุติธรรมช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ กรมคุ้มครองสิทธิฯ ก็ไม่เคยช่วยเหลือ ตนจึงไปยื่นฟ้องอธิบดีและรองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ฐานงดเว้นและเลือกปฏิบัติต่อศาลปกครอง อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษา

นางพิกุล ยังกล่าวด้วยว่า ตนเคยถูกคุกคาม มีกลุ่มคนอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจรวม 3 นาย ขับรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ติดฟิล์มทึบทั้งคันบุกไปที่บ้าน บอกว่าจะนำตนไปพบผู้กำกับ มีภาพวงจรปิด ตนขอดูคำสั่งว่าจากไหนที่มาตรวจเยี่ยม เขาบอกว่าถ้าอยากดูต้องไปพบผู้กำกับเอง พอตนบอกจะไปเองเขาก็บอกว่าผู้กำกับไม่ว่าง ต้องไปพร้อมกับพวกเขา ตนก็เรียก รปภ. มาอยู่เป็นเพื่อน ซึ่งสุดท้ายตนก็ไม่ไป ใช้เวลาเจรจาอยู่นาน ส่วนวันนี้ก็ยังกังวล ที่มาศาลวันนี้ก็มีลูกน้องทีมสืบของภาค 4 มาจำนวนมาก 5-6 คนขึ้นไป ไม่ได้มาฟังคำพิพากษา แต่มาอยู่หน้าห้องมองหน้าโจทก์ ขณะที่พยานบางคนจนทุกวันนี้ยังไม่กล้ากลับ จ.กาฬสินธุ์ เพราะรู้ว่าตำรวจกลุ่มนี้ยังรับราชการอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้น ในช่วงที่รัฐบาลสมัยนายทักษิณ ชินวัตร ประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด ขณะที่นางพิกุล พรหมจันทร์ อาของผู้ตาย ได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ และได้มีการร้องเรียน ขอให้พิจารณาโอนคดีเข้าเป็นคดีพิเศษ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

ขณะที่คดีนี้ ในการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2555 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯและย้ายศพเพื่อปิดบังสาเหตุการตาย , ให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 6 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ และจำคุกจำเลยที่ 5 เป็นเวลา 7 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ โดยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 เพียงคนเดียว

ส่วนชั้นอุทธรณ์ มีการอ่านคำศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.58 ก็พิพากษายืนให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 1,2,3 แต่คำให้การคำให้การของจำเลยที่ 2 มีประโยชน์อยู่บ้าง ศาลอุทธรณ์จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จึงให้จำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 50 ปี

สำหรับจำเลยที่ 4 ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาแก้เป็นให้จำคุกไว้ตลอดชีวิต เนื่องจากเห็นว่ามีการหลอกลวงญาติผู้ตายว่า ผู้ตายได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว แต่จริงๆแล้วยังไม่ได้รับการปล่อยตัว จึงบ่งชี้มีว่าเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1-3 วางแผนฆ่าผู้ตายโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จึงให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 4 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ และปิดบังซ่อนเร้นเหตุการณ์ตาย แต่คำให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้างลดโทษให้ 1 ใน 3 จึงจำคุกไว้ตลอดชีวิต

โดยส่วนของจำเลยที่ 5- 6 ศาลอุทธรณ์ ก็เห็นว่า ได้ข่มขู่พยานให้การเท็จ เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1-4 ไม่ให้ต้องได้รับโทษทางอาญา ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ตายเสียชีวิตแล้ว ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นให้จำคุก 7 ปีเห็นว่าหนักเกินไป ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้ ให้จำคุก จำเลยที่ 5-6 ไว้คนละ 5 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ ขณะที่ต่อมาโจทก์และจำเลย ก็ยังได้ยื่นฎีกาคดี