เปิดแนวรบ 'คนท้องถิ่น' จับตายุบองค์กร-โละอำนาจ

เปิดแนวรบ 'คนท้องถิ่น' จับตายุบองค์กร-โละอำนาจ

"..สนช.จึงอาจจะต้องใช้เกมบู๊ และ บุ๋น เพื่อให้ร่างกฎหมายท้องถิ่นผ่านเป็นกฎหมาย เพราะไม่ว่าจะยืนตามร่างที่ครม. เห็นชอบหรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ย่อมกระทบต่อการเมืองระดับประเทศแน่นอน.."

ความเคลื่อนไหวของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ต้องจับตาการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอให้เข้าที่ประชุมพิจารณา จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2. ร่าง พ.ร.บ.เทศบาล 3. ร่าง พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด 4.ร่าง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล 5.ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร และ 6.ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา

โดย สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่หนึ่ง กำหนดตารางงานคร่าวๆ ว่า จะเข้าสู่วาระพิจารณา ของ สนช. ช่วงปลายเดือนกันยายน และต้องใช้ความละเอียดรอบคอบพิจารณา และจำเป็นต้องตั้ง “คณะกรรมาธิการ” พิจารณาร่างกฎหมายแบบรายฉบับ ไม่สามารถนำร่างกฎหมายทั้ง 6 พิจารณาผ่านกรรมาธิการได้เพียงคณะเดียว

กรณีร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น แม้ในชั้น “คณะกรรมการกฤษฎีกา” จะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและฝ่ายที่เกี่ยวข้องแสดงความเห็นท้วงติงเนื้อหาและปรับปรุงสาระพอประมาณ แต่เมื่อเข้าสู่ชั้นพิจารณาของ “สนช.” แล้ว คงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายที่ผ่านการพิจารณาไปได้ง่ายๆ และอาจถึงขั้น “เปิดแนวรบ” กับกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น - ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หากพิจารณาไม่ถูกทิศทาง

เพราะเนื้อหาของร่างกฎหมายนั้น พบประเด็นที่ “โละอำนาจ” ส่วนท้องถิ่น อย่างล่าสุด 3 สมาคมท้องถิ่น คือ สมาคมอบจ.แห่งประเทศไทย, สมาคมอบต.แห่งประเทศไทย และ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ส่งตัวแทนแสดงเจตนาคัดค้าน ร่างกฎหมายท้องถิ่นที่ ที่เปิดช่องให้ “ยุบ” องค์กรส่วนท้องถิ่น หรือ โละสมาชิกสภาเขต (ส.ข.)

ดังนั้น การพิจารณาของ “สนช.” จึงอาจจะต้องใช้เกมบู๊ และ บุ๋น เพื่อให้ร่างกฎหมายท้องถิ่นผ่านเป็นกฎหมาย เพราะไม่ว่าจะยืนตามร่างที่ “ครม.” เห็นชอบหรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ย่อมกระทบต่อการเมืองระดับประเทศแน่นอน เพราะกลุ่มท้องถิ่นขณะนี้ คือ ฐานเสียงของ “นักการเมือง” หากทำอะไรที่เป็นผลกระทบ แน่นอนว่าคะแนนจากรากหญ้าที่ออกแนวสนับสนุนก่อนหน้านี้ อาจจะไม่แน่นอนอีกต่อไป

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.” ที่จะแจ้งความชัดเจนทางการเมืองหลัง ร่างกฎหมายเลือกตั้ง 2 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เชื่อแน่ว่าทิศทางจะไปทางไหน คงขึ้นอยู่กับการหยั่งเสียงนิยมเบื้องต้น ทั้งที่จะลงพื้นที่เอง ในนาม “ครม.สัญจร” เมืองเพชรบูรณ์ - เลย สัปดาห์หน้า และ การเดินเกมแทน ผ่าน “กลุ่มสามมิตร” ที่ล่าสุดวางคิวเดินสาย “สุโขทัย- พิษณุโลก - กำแพงเพชร - นครสวรรค์” ช่วงวันที่ 6-7 กันยายนนี้