ประกันชีวิตกวาดเบี้ยครึ่งปี 3 แสนล้าน

ประกันชีวิตกวาดเบี้ยครึ่งปี 3 แสนล้าน

คปภ. เผยประกันชีวิตกวาดเบี้ยครึ่งปีแรกกว่า 3.1 แสนล้านบาท โต 4% ชี้ช่องทางขายผ่านธนาคารมาแรง

เมื่อวันที่ 5 ก.ย.61 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันชีวิตรับโดยตรงผ่านช่องทางการขายจาก ตัวแทน ธนาคาร โทรศัพท์ นายหน้า ไปรษณีย์ และช่องทางอื่น รวมทั้งสิ้น 311,772 ล้านบาท ขยายตัว 4.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับช่องทางการขายผ่านธนาคาร มีพัฒนาการการขายที่โดดเด่น มีเบี้ยประกันชีวิตรับโดยตรงสูงสุด จำนวน 148,788 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 47.72% ของเบี้ยประกันชีวิตรับโดยตรงรวมทุกช่องทาง มีอัตราการขยายตัวในอัตราเร่งที่ 7.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือช่องทางการขายผ่าน “ตัวแทน" มีเบี้ยประกันชีวิตรับโดยตรง จำนวน 140,822 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 45.17% มีอัตราการขยายตัว 0.68% ตามมาด้วยการขายผ่านช่องทาง "โทรศัพท์" มีเบี้ยประกันชีวิตรับโดยตรง จำนวน 9,440 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.03% มีอัตราการขยายตัว 7.93%

สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงผ่านช่องทางการขายจาก นายหน้า ธนาคาร ตัวแทน องค์กร ติดต่อโดยตรง โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ไปรษณีย์ และช่องทางอื่น รวมทั้งสิ้น 114,302 ล้านบาท ขยายตัว 5.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งช่องทางการขายผ่าน "นายหน้า" ยังคงมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงสูงสุด จำนวน 66,548 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58.22% ของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทุกช่องทาง มีอัตราการขยายตัว 6.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

รองลงมาคือช่องทางการขายผ่าน "ธนาคาร" มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 15,754 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.78% มีอัตราการขยายตัวที่โดดเด่นที่ 10.99% และการขายผ่านช่องทาง "ตัวแทน" มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงเป็นอันดับ 3 จำนวน 15,438 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.51% หดตัวลง 6.87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 นายสุทธิพล กล่าวว่า คปภ. ยังคงมีแผนยกระดับการให้บริการและพฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มความเข้มข้นในการกำกับดูแลคนกลางประกันภัย ซึ่งเป็นช่องทางที่สำคัญในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยจะมีการปรับปรุงกติกาในการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ตลอดจนระบบตรวจสอบการปฏิบัติงานของคนกลางประกันภัยเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในกระบวนการขายและการดูแลกรณีเกิดปัญหาในเรื่องประกันภัย รวมถึงการตรวจสอบและออกสุ่มตรวจสำนักงานตัวแทนประกันภัยและสำนักงานนายหน้าประกันภัยโดยจะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั่วประเทศ และดำเนินการตามแผนการเข้าตรวจสอบ ทั้งการตรวจสอบประจำปี (annual examination) เพื่อตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยป้องกัน/หรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนผู้เอาประกันภัยในอนาคต และการตรวจสอบเฉพาะ ซึ่งเป็นการตรวจสอบช่องทางการขายผ่านธนาคารพาณิชย์ และการตรวจสอบสื่อโฆษณา รวมถึงการเชิญบริษัทประกันภัย เพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจและการควบคุมคุณภาพการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย รวมทั้งรับทราบประเด็นปัญหาในการดำเนินธุรกิจอีกด้วย