ซีเอ็นซีกรุ๊ปต่อยอดสู่ยานยนต์อัจฉริยะ

ซีเอ็นซีกรุ๊ปต่อยอดสู่ยานยนต์อัจฉริยะ

กลุ่มโชคนำชัยจับมือสวทช.ต่อยอดความสำเร็จเรือไม่จมสู่ยานยนต์อัจฉริยะสัญชาติไทย นำร่อง มินิบัสอะลูมิเนียม เรือไฟฟ้าสู่สมาร์ทโบ้ท, สมาร์ทบัสภายใต้แบรนด์ 'สกุลฎ์ซี 'หวังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่ม

มินิบัส 24 ที่นั่งน้ำหนักเบาด้วยโครงสร้างอะลูมิเนียม ผลงานวิจัยร่วมระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับกลุ่มบริษัทโชคนำชัย (ซีเอ็นซีกรุ๊ป) หวังทดแทนรถตู้โดยสารและรถรับส่งนักเรียน ผลงานต่อยอดความสำเร็จจาก “เรือไม่จม” เตรียมประสานธุรกิจไอที-ดิจิทัลสร้างยานยนต์อัจฉริยะสัญชาติไทย เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันกับต่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยให้สูงขึ้น

ย้อนไปราว 2 เดือน ?บริษัท โชคนำชัย ไฮ-เทค เพรสซิ่ง จำกัดและบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัดในกลุ่มโชคนำชัย ได้เปิดตัวนวัตกรรมเรือไม่จม ใช้เทคนิคฉีดอะลูมิเนียมชิ้นเดียวตลอดทั้งลำแบบยาว ลดการเชื่อมต่อชิ้นส่วนโครงสร้างเรือ ช่วยให้มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา สามารถรับแรงได้มากขึ้น บรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง 74 -114 คน ราคาตั้งแต่ 12-16 ล้านบาทขึ้นอยู่กับเครื่องยนต์ ได้ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยในส่วนของเรือขนส่งผู้โดยสารแล้ว

ชิ้นส่วนยานยนต์สู่ยานพาหนะ

วีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ กรรมการผู้จัดการบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายการเซ็นเอ็มโอยูกับ สวทช. เพื่อพัฒนายานพาหนะสมัยใหม่น้ำหนักเบาด้วยโครงสร้างอะลูมิเนียมตลอดทั้งคัน โดย สวทช.จะดูแลด้านการทดสอบวิเคราะห์ความแข็งแรงของโครงสร้าง จากที่ผ่านมาได้วิเคราะห์โครงสร้างเรือโดยสารอะลูมิเนียมแล้ว ในอนาคตมีแผนที่จะทำรถโดยสารอะลูมิเนียมรุ่นแรกที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและเป็นระบบสมาร์ท ร่วมกับบริษัทคนไทยที่มีนวัตกรรม เช่น บริษัทด้านไอโอที หรือบริษัทที่มีความสามารถในการพัฒนาช่วงล่าง เพื่อให้เป็นนวัตกรรมไทย 100%

ปัจจุบันกำลังผลิตมินิบัส 20-24 ที่นั่งเครื่องยนต์ดีเซล คาดว่าจะเปิดตัวต้นปีหน้า 200-300 คันในราคาคันละ 2 ล้านบาทภายใต้แบรนด์สกุลฎ์ซี ส่วนแชสซีกับเครื่องยนต์เป็นของบริษัท ฮีโน่มอเตอร์ จำกัด ขณะเดียวกันก็ทำคู่ขนานไปกับการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งลงทุนสร้างเตาหลอมแม่พิมพ์และเปิดโรงงานผลิตมินิบัสเป็นรถประกอบประมาณ 500-600 ล้านบาท จำหน่ายให้ผู้ประกอบการไทยตอบนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เปลี่ยนจากรถตู้โดยสารเป็นมินิบัส ขณะนี้เริ่มมีผู้สนใจที่จะสั่งจองแล้ว

ส่วน “รถโดยสารอัจฉริยะ” จะมีความชัดเจนในช่วงปลายปี 2562 โดยมีระบบความปลอดภัยที่ช่วยป้องกันคนขับหลับใน ระบบจีพีเอสติดตามรถและพฤติกรรมการขับขี่ เป็นต้น กลุ่มเป้าหมายจะเป็นรถประจำทาง 20-30 ที่นั่ง ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุราคาแต่น่าจะไม่เกิน 8-10 ล้านบาท

“ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคของการบูรณาการโลกของการผลิต เข้ากับการเชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ IoT ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องตื่นตัว และยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นและต้องดูเรื่องความชำนาญของตนเองที่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตนวัตกรรม” วีรพลน์ กล่าว

ทั้งนี้ เป้าหมายของบริษัทในการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ที่ผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านความปลอดภัย เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยมากขึ้น ภายใต้องค์ความรู้ที่มีอยู่ทั้งในบริษัทและจากหน่วยงานพันธมิตร คาดว่าภาย 3 ปีจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยมีรายได้ 2,000 ล้านบาท

กลไกขับเคลื่อนจากภาครัฐ

ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช.โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติและศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับกลุ่มบริษัทโชคนำชัย ในด้านการวิจัยและพัฒนาโครงสร้างเรือและรถโดยสาร ด้วยการใช้กลไกของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การยื่นขอรับการพิจารณาบัญชีนวัตกรรมและการลดภาษี 300% ช่วยให้บริษัทโชคนำชัยและบริษัทสกุลฎ์ซี อินโนเวชั่นฯ สามารถพัฒนากระบวนการผลิตโดยมีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา

วัตถุประสงค์ความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนายานพาหนะสมัยใหม่ รวมถึง ชิ้นส่วน โครงสร้าง และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง, ร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ และการออกแบบและผลิตโครงสร้างน้ำหนักเบา ตลอดจนร่วมพัฒนาบุคลากรและกำลังคนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานพาหนะสมัยใหม่ เพื่อสร้างองค์ความรู้และยกระดับศักยภาพในการผลิตยานยนต์ในประเทศ

“เทรนด์เทคโนโลยียานยนต์จะมุ่งไปสู่การขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ รวมถึงการนำระบบ อัจฉริยะต่างๆ มาติดตั้งในยานยนต์ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไปสู่การขับเคลื่อนที่ยานพาหนะได้หลายรูปแบบ อาทิ จากการขับเคลื่อนผ่านล้อยางเป็นมอเตอร์ใบพัดในลักษณะของการบินหรือเรือ” ณรงค์ กล่าว