ครม. เห็นชอบร่างกม.เลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ

ครม. เห็นชอบร่างกม.เลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ

ครม. เห็นชอบร่างกม.เลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ พิ่มอำนาจกกต. แต่ไม่แตะ ส.ข.

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 61 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ให้ความเห็นชอบกับ ร่างพ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น และร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งสิ้น 6 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอ โดยเป็นกฎหมายกลาง เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น 1 ฉบับ ส่วนอีก 5 ฉบับเป็นพ.ร.บ.ที่ลงรายละเอียดการเลือกตั้งในแต่ละระดับ เช่น สภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 1 ฉบับ, เทศบาล 1 ฉบับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 ฉบับ, กรุงเทพมหานคร 1 ฉบับ, และเมืองพัทยา 1 ฉบับ โดยสาระสำคัญของกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ สืบเนื่องมาจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 252 กำหนดว่า ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ในกรณี ที่เป็น อปท.รูปแบบพิเศษ จะมาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน และสอดคล้องกับกฎหมายที่ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่าต่อไปว่า ในกฎหมายฉบับดังกล่าวมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ตามกฎหมายเดิม การจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น อปท.จะเป็นผู้ดำเนินการ แต่กฎหมายฉบับใหม่ระบุให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เป็นผู้รับผิดชอบ แต่สามารถมอบให้ อปท.หรือกระทรวงมหาดไทย(มท.) เป็นผู้จัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้ 2.ในกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆในส่วนของ สมาชิกสภาเขต(ส.ข.) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หมายความว่า ยังคงมีส.ข.อยู่เช่นเดิม เพียงแต่ว่า ในเวลานี้ ส.ข.ทุกเขต หมดวาระทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่มีการอนุญาตให้มีการเลือกตั้ง โดยต้องรอการตัดสินใจจาก มท.อีกครั้งว่าจะยังให้มี ส.ข.อยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการร่างกฎหมายต่อกรณีดังกล่าว ในวันข้างหน้าต่อไป 3.กฎหมายฉบับนี้กล่าวระบุว่า การได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ต้องได้รับคะแนนเสียง มากกว่า คะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่ออีกว่า 4.กกต.สามารถตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรมในเชิงรุก โดยมีสิทธิในการตรวจสอบเมื่อได้รับข้อมูล ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะมีการทุจริตเกิดขึ้น โดยไม่ต้องรอให้มีคนมาร้องเรียน จากเดิมที่ต้องรอให้มีผู้มาร้องเรียนก่อน 5.มีการแก้คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กรณีที่มีผลประโยชน์ ยึดโยง หรือมีชนักติดหลัง โดยมีการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทุจริตในส่วนนี้ได้ โดยยังคงมีวาระ 4 ปีเช่นเดิม

นอกจากนี้ ยังกำหนดหน้าที่ของอปท.แต่ละแห่งเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม้ให้ขัดกับกฎหมายของหน่วยงานอื่น จากเดิมที่มีบางข้อกฎหมายที่ยังไม่ลงตัวระหว่าง อปท.และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) พร้อมให้อำนาจ อปท.ในการดูแลจัดการจราจร โดยต้องจ่ายเงินสนับสนุนให้แก่โรงพัก และสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ โดยเราจะกำหนดหน้าที่ของอปท. ให้สามารถจ่ายงบประมาณสำหรับดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ต้องเป็นรายการที่ มท.ได้ออกระเบียบไว้แล้ว เท่านั้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตการเลือกตั้งในบางพื้นที่ อาทิ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดยการเพิ่มจำนวนคนจาก 100,000 คน เป็น 150,000 คน หากเป็นระดับหมู่บ้านในต่างจังหวัดนั้นมีการกำหนดจำนวนคนไว้ 25 คน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เนื่องจากมีบางหมู่บ้านที่มีคนไม่ถึง 25 คน จึงกำหนดให้สามารถรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันได้ และมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่เดิม ที่กำหนดให้ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และต้องเสียภาษีบำรุงท้องถิ่นติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ตัดเรื่องการเสียภาษีระดับท้องถิ่นออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งสส.ในภาพรวม

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฎษฎีกา ได้ตรวจสอบกฎหมายทั้ง 6 ฉบับแล้ว กกต.ทั้งชุดเก่าและชุดใหม่ให้ความเห็นชอบ เช่นเกียวกับกระทรวงมหาดไทย ลำกับต่อไปคือการส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาภายในเดือนก.ย.นี้ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 2-3 เดือน คาดว่าภายในเดือน พ.ย.จะแล้วเสร็จ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จกระบวนการทั้งหมดในเดือน ก.พ. หากกระบวนการของกกต.แล้วเสร็จ คาดว่าอาจจะพอดีกับ โรดแมพ ที่ระบุวันเลือกตั้ง วันที่ 24 ก.พ. 2561

อย่างไรก็ตาม มีข้อตกลงที่เคยคุยกันไว้ระหว่างกกต.ชุดเก่าและชุดใหม่ ซึ่งพวกเขาอยากให้ การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น มีระยะห่างกับการเลือกตั้งระดับชาติ 3 เดือน เพื่อให้มีเวลาในการเตรียมการ แต่คงไม่สามารถ จัดทีเดียวพร้อมกันทั้งประเทศได้ แต่ต้องมีการแบ่งเป็น 2 รอบ โดยรอบแรก มีประมาณ 40 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งไปจากเดิม ในส่วนของจังหวัดที่เหลือที่มีการเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งนั้น จะจัดขึ้นตามมา

“ในส่วนของการตรวจสอบทุจริต เดิมกฎหมายกำหนดให้ กกต.มีสิทธิเพิกถอนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งก่อนและหลังการประกาศผล แต่กฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ช่วงก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการทุจริต กกต.สามารถเพิกถอนสิทธิได้ 1 ปี แต่ถ้าหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว กกต.พบข้อมูลยืนยันได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์ หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นจริง กกต.มีสิทธิเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 10 ปี พร้อมกำหนดให้ผู้ทุจริตรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว