ถอดบทเรียน 'กู้ภัยถ้ำหลวงฯ' ช่วยทีมหมูป่า

ถอดบทเรียน 'กู้ภัยถ้ำหลวงฯ' ช่วยทีมหมูป่า

3 หน่วยงาน ถอดบทเรียน “กู้ภัยอุทยานถ้ำหลวงฯ” ช่วยทีมหมูป่า จัดมาตรฐานอาชีพบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ ยกระดับเทียบเท่าสากล

นายชัยณรงค์ วาสนะสมสิทธิ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดตัวโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ สาขาการบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ และการเสวนาเรื่อง “ถอดบทเรียนการกู้ภัยในภาวะวิกฤติ กรณีศึกษา การกู้ภัยในวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย” ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดขึ้น

โดยมีนายพิสิฐ รังสกฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และรองศาสตราจารย์ ดร.เนตร์พัณณา ยาวิราช อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะผู้จัดการโครงการและที่ปรึกษาโครงการฯ ร่วมกิจกรรม ณ โรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ

นายพิสิฐ รังสกฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า ปัจจุบัน สถานการณ์ความเป็นอยู่การดำเนินชีวิตของประชาชน มีความเสี่ยงจากการเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ อุบัติเหตุ ภัยอันตรายจากการเดินทาง ทั้งภัยธรรมชาติ และภัยที่มนุษย์กระทำขึ้น จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและเกิดความเสียหาย สูญเสียทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพการบรรเทาสาธารณภัยขึ้นเพื่อให้การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยมีความเป็นมาตรฐานตามหลักวิธีการที่ถูกต้อง

โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการจัดทำโครงการมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ สาขาบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ ซึ่งนับเป็นภารกิจอันสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เกิดจากภัยพิบัติต่าง ๆ อุบัติเหตุ ได้รับความปลอดภัย ทั้งผู้ประสบภัย และผู้ให้ความช่วยเหลือ ให้มีการขับเคลื่อนมาตรฐานอาชีพ สาขาบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานบุคคลที่มีสมรรถนะในอาชีพดังกล่าว ให้มีความเป็นสากล

รองศาสตราจารย์ ดร.เนตร์พัณณา ยาวิราช อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะผู้จัดการโครงการและที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวถึงรายละเอียดการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพธุรกิจสาขาวิชาชีพธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะฯว่า ได้มีการศึกษาแนวทางจากต่างประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดี เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เป็นต้นแบบ แล้วนำมาปรับให้สอดคล้องกับประเทศไทย เพื่อให้มีความเป็นสากลตามมาตรฐานที่ทั่วโลกถือปฎิบัติ

โดยมีการประชุมระดมสมองจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสาขาการบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ มีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มเป้าหมาย เพื่อจัดทำการวิเคราะห์แผนผังแสดงหน้าที่งาน ประกอบด้วย บทบาทหลัก และหน้าที่หลัก หน่วยสมรรถนะ หน่วยสมรรถนะย่อย เกณฑ์การปฎิบัติงาน หลักฐานความรู้ในการทำงาน ทักษะและความรู้ที่ต้องการ กฎระเบียบ ข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขอบเขตการทำงาน ตลอดถึงคุณธรรม จริยธรรมของผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการกู้ชีพ กู้ภัย และดับเพลิง ตามสาขาวิชาชีพธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ สาขาการบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ

นอกจากนี้ มีการจัดทำรายละเอียดวิธีการและกระบวนการประเมินสมรรถนะ อาชีพบรรเทาสาธารณภัยแต่ละประเภท ในรูปแบบต่างๆ ทั้งวาตภัย อุทกภัย อัคคีภัย สาธารณะภัย สามารถแบ่งระดับสมรรถนะของบุคคล โดยมีการจัดแบ่งชั้นคุณวุฒิวิชาชีพออกเป็นระดับชั้นต่างๆ เป็น 8 ระดับ ตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพแห่งชาติ ตามสมรรถนะของบุคคลแต่ละอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ สาขาบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ ทั้งหมด เป็นต้น นอกจากนี้จะได้มีการจัดทำประชาพิเคราะห์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อให้มาตรฐานอาชีพในครั้งนี้มีความสมบูรณ์และถูกต้องและมีความเป็นสากลมากที่สุด

“การจัดทำมาตรฐานอาชีพสาขาวิชาชีพธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ สาขาการบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2562 และประกาศในพระราชกฤษฎีกา ถือเป็นมาตรฐานของประเทศไทยเพื่อถือปฎิบัติ จึงนับเป็นนิมิตหมายอันดีต่อผู้ประกอบอาชีพในสาขาวิชาชีพธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ สาขาการบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ ให้เกิดความเป็นมาตรฐานสากล มีความเชื่อถือได้ และมีความภูมิใจในอาชีพในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย” รองศาสตราจารย์ ดร.เนตร์พัณณา กล่าว