สทนช.สั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในลำน้ำสายสำคัญ

สทนช.สั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในลำน้ำสายสำคัญ

สทนช.สั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในลำน้ำสายสำคัญ จัดทำแผนการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางใหญ่ลดความเสี่ยง

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 61 นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศขณะนี้ว่า วันนี้ประเทศไทยมีปริมาณฝนลดลง ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีปริมาณฝนมากกว่าภาคอื่นๆ โดยฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบว่า มีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ ได้แก่ จ.น่าน 155.5 มิลลิเมตร (มม.), ภาคใต้ จ.พังงา 60.5 มม. นครศรีธรรมราช 57.5 มม. กระบี่ 53 มม. ระนอง 42 มม., ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.บึงกาฬ 56.4 มม. ศรีสะเกษ 54 มม. อุบลราชธานี 40 มม. ส่งผลให้แม่น้ำในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น

โดยศูนย์เฉพาะกิจฯ ได้คาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ลำน้ำสายสำคัญ ๆ ได้แก่ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำป่าสัก อ.หล่มสัก อ.หนองไผ่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ และแม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณตลาดเก่า อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ์ อ.เมืองปราจีนบุรี อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวติดตามประกาศของกรมชลประทานเรื่องสถานการณ์น้ำแม่น้ำปราจีนบุรีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแม่น้ำน่าน อ.แม่จริม อ.บ่อเกลือ อ.เวียงสา อ.ท่าวังผา อ.เมืองน่าน จ.น่าน ที่มีความเสี่ยงจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จากฝนตกหนักใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ส่วนที่แม่น้ำโขงขณะนี้ยังคงมีแนวโน้มน้ำสูงขึ้น มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่งที่ จ.หนองคาย จ.นครพนม จ.มุกดาหาร และต้องเฝ้าระวังบริเวณ จ.บึงกาฬ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นอ่างฯขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ ปัจจุบันคงเหลือ 5 แห่ง ได้แก่ 1.เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 560 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 108% ปริมาณน้ำไหลเข้า 3.54 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 0.51 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 7.03 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร 2.เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 756 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 106% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1.02 ม. ลดลง 2 ซม.ปริมาณน้ำไหลเข้า 14.94 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 2.81 ล้าน ลบ.ม.มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 15.74 ล้าน ลบ.ม.

3. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 8,367 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 94% ปริมาณน้ำไหลเข้า 57.04 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 7.52 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 52.33 ล้าน ลบ.ม. โดยในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ย.61) จะเริ่มปรับแผนการระบายน้ำเป็นวันละ 58 ล้าน ลบ.ม. ไปจนถึงวันที่ 10 ก.ย. 61 ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่ระบายยังไม่เกินความจุของลำน้ำแควน้อย แต่อาจมีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางแห่งได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เอ่อสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 50 เซนติเมตร (ซม.) ซึ่งเน้นย้ำหน่วยเกี่ยวข้องแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำด้วย

4. เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 16,144 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91% ปริมาณน้ำไหลเข้า 50.66 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 3.5 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 25.97 ล้าน ลบ.ม. และจะเริ่มปรับแผนการระบายน้ำผ่านเขื่อนท่าทุ่งนาเป็นวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ 7-13 ก.ย. 61 โดยปริมาณน้ำที่ระบายยังไม่เกินความจุของลำน้ำแคว แต่อาจมีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางแห่งได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เอ่อสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 60 ซม. ที่ได้มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควใหญ่ให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำล่วงหน้าแล้ว และ 5. เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายกปริมาณน้ำ 194 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.87 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 0.46 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออกวันละ 6.16 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.8 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 0.95 ม. เพิ่มขึ้น 10 ซม.