เตือนภัยมนุษย์เงินเดือนเสี่ยงโรค 'อัลไซเมอร์'

เตือนภัยมนุษย์เงินเดือนเสี่ยงโรค 'อัลไซเมอร์'

เตือนภัยมนุษย์เงินเดือนเสี่ยงโรค "อัลไซเมอร์" แนะ 5 วิธีในการบริหารสมอง

โรคอัลไซเมอร์หลายคนอาจเข้าใจว่าเกิดกับเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ล่าสุดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ออกมาระบุว่านอกจากผู้สูงอายุแล้ว กลุ่มคนวัยทำงานก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความจำเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ด้วยเช่นกัน อันเป็นผลมาจากการใช้ชีวิตและพฤติกรรมบางอย่างที่นำไปสู่การเป็นโรคนี้

ด้วยสภาพสังคมที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว การดูแลสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะโรคที่คนกลุ่มนี้มักจะเป็นก็คือโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคความจำเสื่อม จะแตกต่างกันก็ตรงที่เป็นมากหรือน้อยเท่านั้น  โดยผู้สูงอายุจะมีความสามารถในการตอบสนองอารมณ์ หรือที่เรียกว่าความยืดหยุ่นของสมอง ที่จะค่อยๆลดลงตามกาลเวลา ส่งผลต่อความคิด ความจำ ที่เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา เปิดเผยถึงปัจจัยเสี่ยงผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์ พบในผู้ป่วยที่มีอายุมาก 

โดยสถิติผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในกลุ่มคนทั่วไปเฉลี่ยช่วงอายุ 65 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 5   ผู้สูงอายุ 75 ปี พบสัดส่วนร้อยละ 15 และกลุ่มคนอายุ 85 ปีจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30-40  

ขณะเดียวกันกลุ่มคนวัยทำงานก็มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ด้วยเช่นกัน จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ความเครียดในการทำงาน และที่พบได้บ่อยที่สุดคืออาการของออฟฟิศซินโดม ที่เป็นข้อบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด บอกถึงโรคออฟิศซินโดรมจะมีอาการ ปวดคอ ปวดไหล่ ที่เรื้อรังในกลุ่มคนวัยทำงาน และความเครียดสะสมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสมาธิ และการจดจำของสมองผู้ป่วยจะมีอาการสับสน สมาธิไม่ดี ความจำไม่ดี หรือบางรายอาจะมีภาวะซึมเศร้า และเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง 

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นกลุ่มคนวัยทำงานหรือกลุ่มผู้สูงอายุ สิ่งที่ควรทำคือการตรวจสุขภาพร่างกายสม่ำเสมอ  และที่สำคัญ ต้องมีการบริหารสมองให้แข็งแรง เพื่อป้องกันโรคความจำเสื่อม

5 วิธีในการบริหารสมอง  คือ 1. การพักผ่อนให้เพียงพอในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับนาฬิกาชีวิต  // 2. การดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกายโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ลิตรต่อวัน  // 3. พักสมองจากการทำงานระหว่างวัน เพื่อไม่ให้สมองมีการทำงานสะสมที่มากเกินไป // 4.การรับประทานอาหารที่ประโยชน์ต่อร่างกายและสมองเป็นประจำ และ 5. ต้องมีการออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพที่มีประโยชน์ทางด้านร่างกายและสมอง

ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ อาจจะต้องเน้นเรื่องการเข้าสังคม หมั่นทำกิจกรรมที่ช่วยบริหารสมองให้แข็งแรง การใช้ทักษะการสื่อสาร เพื่อกระตุ้นให้สมองทำงานอยู่ตลอดเวลาด้วยการตอบสนองทางอารมณ์