อียูเล็งเสนอสถานะหุ้นส่วนพิเศษให้อังกฤษ

อียูเล็งเสนอสถานะหุ้นส่วนพิเศษให้อังกฤษ

แหล่งข่าวระบุว่า ขณะนี้ เจ้าหน้าที่อังกฤษ และอียูตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลงเบร็กซิท ภายในกลางเดือนพ.ย.เป็นอย่างช้าที่สุด

นายมิเชล บาร์นิเยร์ ตัวแทนเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป (อียู) ในประเด็นการถอนตัวของอังกฤษออกจากอียู (เบร็กซิท) กล่าวว่า ยุโรปเตรียมเสนอให้อังกฤษได้รับสถานะการเป็นหุ้นส่วนที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งนักวิเคราะห์ มีความเห็นว่า คำกล่าวของนายบาร์นิเยร์ เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างอังกฤษและอียู กรณีเบร็กซิท โดยการที่อียูยื่นข้อเสนอดังกล่าว ถือเป็นการผ่อนคลายจากเงื่อนไขเดิมที่อียูระบุว่าอังกฤษจะต้องตัดสินใจเลือกความสัมพันธ์ในอนาคตในรูปแบบที่มีอยู่ในขณะนี้ และบ่งชี้ว่าอียูลดท่าทีแข็งกร้าวต่อข้อเสนอจากอังกฤษเพื่อเร่งกระบวนการเจรจา ขณะที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 8 เดือนก่อนถึงวันที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากอียูอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานก่อนหน้านี้ว่า เจ้าหน้าที่อังกฤษและอียู เลื่อนกำหนดเส้นตายในการเจรจาเบร็กซิทออกไปเป็นกลางเดือนพ.ย. เนื่องจากยังคงไม่มีความคืบหน้าในการเจรจา

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก  รายงานว่า ถึงแม้เจ้าหน้าที่อังกฤษ และอียูเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า พวกเขาต้องการที่จะบรรลุข้อตกลงเบร็กซิท ภายในวันที่ 18 ต.ค. หรือภายในอีก 7 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการประชุมสุดยอดผู้นำอียู แต่เบื้องหลังแล้ว พวกเขายอมรับว่าสิ่งนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้

การเลื่อนเส้นตายดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายยังคงประสบปัญหาในการเจรจา และการกำหนดเส้นตายในเดือนพ.ย.ก็เป็นการส่งสัญญาณว่า อียูอาจจัดการประชุมฉุกเฉินในเดือนดังกล่าวเพื่อพิจารณาเรื่องนี้

ทั้งนี้ ผู้นำอียู มีกำหนดหารือกรณีเบร็กซิท ในการประชุมสุดยอดที่เมืองซัลส์บูร์กในกลางเดือนก.ย. และอีกครั้งหนึ่งในเดือนต.ค.ที่กรุงบรัสเซลส์  ซึ่งการที่อังกฤษและอียูเลื่อนเส้นตายในการทำข้อตกลงเบร็กซิท ออกไปอีกนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ตัวแทนการเจรจาของทั้งสองฝ่ายกำลังเผชิญกับความท้าทายในการบรรลุข้อตกลง โดยความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ก็คือ ยิ่งใกล้วันที่อังกฤษจะแยกตัวออกจาก อียูอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มี.ค.ปีหน้ามากเท่าใด โอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงได้นั้น ก็ยิ่งเป็นไปได้ยากมากขึ้นเท่านั้น

หลายฝ่ายกังวลว่า การถอนตัวจากอียูแบบไม่มีข้อตกลงจะส่งผลให้อังกฤษเผชิญผลกระทบในหลายด้าน ซึ่งรวมถึงการถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรป, ต้นทุนบัตรเครดิตที่ปรับตัวสูงขึ้น, งานเอกสารข้ามชายแดนมีความยุ่งยากมากขึ้น, การขาดแคลนยารักษาโรค, ภาวะไฟฟ้าดับ และอาจต้องหยุดให้บริการทางหลวงพิเศษในเมืองโดเวอร์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางไปยังฝรั่งเศส