‘เอบีซี’ปั้นเกษตรยุคใหม่

‘เอบีซี’ปั้นเกษตรยุคใหม่

เอบีซี เซ็นเตอร์ ย้ำภารกิจมุ่งยกระดับการเกษตรแบบดั้งเดิมก้าวสู่เกษตรอัจฉริยะและเกษตรบริการ โชว์ต้นแบบแปลงผักแอโรโพนิกส์

งานสัมมนา “AGrowth : ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรไทยสู่ตลาดโลก” จัดโดย ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (เอบีซี เซ็นเตอร์) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นำเสนอผลงานจากผู้ประกอบการที่เข้ารับการสนับสนุน ย้ำภารกิจศูนย์ฯ มุ่งยกระดับการเกษตรแบบดั้งเดิมก้าวสู่เกษตรอัจฉริยะและเกษตรบริการ

หวังสร้างเกษตรอัจฉริยะ

กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของเอบีซีฯ มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนภาคการเกษตรไทยจาก “เกษตรแบบดั้งเดิม”ไปสู่ “เกษตรอุตสาหกรรม” และ “เกษตรบริการหรือธุรกิจเกษตร” ที่ใช้นวัตกรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อน

โดยสนับสนุนการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่สำหรับนวัตกรรมการเกษตรใน 7 สาขาธุรกิจ ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ เกษตรดิจิทัล เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง ไบโอรีไฟเนอรี่ การบริการทางธุรกิจเกษตรและรูปแบบการจัดการฟาร์มแบบใหม่

เอบีซีฯ จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเกษตรที่มีความต้องการและความพร้อมที่แตกต่างกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำทางการเกษตรตามเป้าหมาย โดยได้เสนอ 5 แนวทาง ได้แก่ 1.การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยทดแทนแรงงาน เพื่อความแม่นยำและเพิ่มปริมาณผลผลิต 2. การขยายตลาดเกษตรในรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง

3. การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแบ่งปันความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องแก่เกษตรกร เช่น การใช้เทคโนโลยีบล็อคเชน 4. การนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ กระบวนการผลิตทางการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่ามากที่สุด และ 5. การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางการเกษตรจากเดิมเป็นผู้ตาม

"จากพื้นฐานความสมบูรณ์ทางพื้นที่ แหล่งผลิตผลิตผลทางการเกษตรของไทย ทำให้มีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาเพื่อสร้างความเข้มแข็ง” กริชผลา กล่าว

โชว์โมเดลต้นแบบ

ผลการทำโครงการในปีแรกมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 45 ราย อาทิ “เพาะรัก” ระบบปลูกผักแอโรโพนิกส์อัตโนมัติสำหรับผู้สูงอายุ เกิดจากปัญหาการปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ต้องใช้เวลาและการดูแลมาก เช่น ต้องเปลี่ยนค่าน้ำทุก 7-10 วัน มีปัญหาตะไคร้น้ำส่งผลให้ผักเน่าเสีย จึงเกิดแนวคิดใช้เทคโนโลยีในการปลูกผักรับประทานเองโดยไม่ต้องดูแลมาก เรียกว่าระบบ“แอโรโพนิกส์”

ซึ่งเป็นการปลูกพืชรูปแบบใหม่ ไม่ใช้ดิน ใช้การพ่นสารอาหารที่เป็นออร์แกนิค ให้ผลผลิตดีกว่าระบบไฮโดรโปนิกส์ 20-30% ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อนำเสนอกับกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการปลูกผักรับประทานเองที่บ้าน ขณะเดียวกันก็ยังได้กลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น ร้านอาหาร ภัตาคาร ที่ต้องการปลูกไว้ใช้บริการลูกค้า" ทศพล วุฒิธีรโชติ เจ้าของไอเดีย ระบบปลูกผักแอโรโพนิกส์อัตโนมัติสำหรับผู้สูงอายุ กล่าว

ขณะที่บริษัท อีเด็น อะกริเท็ค จำกัด ของ ชารีฟ อินทพันธ์ เป็น สารเคลือบเนื้อผลไม้จากสารสกัดไคโตซานจากเปลือกสัตว์ทะเลและคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส ที่มีลักษณะโครงสร้างและขนาดโมเลกุลจำเพาะ มาใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตเป็นสารเคลือบ ที่มีคุณสมบัติช่วยลดอัตราการหายใจของผลไม้ ลดการสูญเสียความชื้น ลดปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาล และลดอัตราการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ จึงสามารถยืดอายุการเก็บรักษาของเนื้อผลไม้ตัดแต่งได้นานขึ้น 2-3 เท่า โดยไม่ส่งผลต่อสี กลิ่น รสชาติ และเนื้อสัมผัสของผลไม้ สะดวกต่อการใช้งาน และไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และได้ขยายไปสู่การพัฒนาถุงพลาสติกช่วยยืดอายุการจัดเก็บผักผลไม้

ด้าน ธีรพงษ์ กาญจนกันติกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทามอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตโดรนไฮบริดเพื่อการเกษตรที่ใช้น้ำมันเบนซิน กล่าวว่า ข้อจำกัดของโดรนที่ใช้แบตเตอรี่คือ ระยะเวลาในการบินสั้น จึงดัดแปลงเครื่องยนต์ให้มาใช้น้ำมันเบนซินแทน ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องกังวลปัญหาแบตหมด แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องน้ำหนักบรรทุกที่ลดลง เนื่องจากโดรนต้องรับน้ำหนักของน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ในอนาคตจะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น