'ฉัตรชัย' สั่งปรับแผนจัดการน้ำ เผชิญเหตุภาวะวิกฤติ 93 เขื่อน

'ฉัตรชัย' สั่งปรับแผนจัดการน้ำ เผชิญเหตุภาวะวิกฤติ 93 เขื่อน

"ฉัตรชัย" สั่งปรับแผนจัดการน้ำ รับมือลุ่มน้ำเพิ่มสูงขึ้นทุกภาค เรียกทุกหน่วยงานถกด่วนทำแผนเผชิญเหตุภาวะวิกฤติ 93 เขื่อน

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยว่าในวันที่ 30 ส.ค.เวลา 09.00 น. จะประชุมคณะอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ตามข้อสั่งการของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ให้ทุกหน่วยงานที่มีอ่างเก็บน้ำ หนอง บึง ที่อยู่ในความรับผิดชอบส่งข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ แผนเผชิญเหตุภาวะวิกฤติ แผนการระบายน้ำ คู่มือในการตรวจสอบอ่างเก็บน้ำ เกณฑ์การควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำให้ สทนช. เพื่อน้ำมาใช้บริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ

รวมถึงการจัดทำแผนที่พยากรณ์อากาศให้เป็นแผนที่ฉบับเดียวกัน (One Map) เพื่อให้ข้อมูลเป็นเอกภาพ และให้หน่วยงานที่มีอ่างเก็บน้ำในความรับผิดชอบนำแผนที่พยากรณ์อากาศมาประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับตำแหน่งที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำแต่ละอ่าง ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขณะนี้มีน้ำความจุเกิน 100% ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน เขื่อนแก่งกระจาน ขนาดกลาง 39 แห่ง ส่วนอ่างเฝ้าระวัง 80-100% ของความจุ ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนปราณบุรี และขนาดกลาง 47 แห่ง

​ทั้งนี้สถานการณ์ฝนยังตกหนัก มี 31 จังหวัด เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก เช่น จ.เชียงใหม่ พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ภาคใต้ จ.ระนอง โดยตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ 58.5 มม. ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี 44.0 มม. ส่วนภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง

"ล่าสุดลำน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงบริเวณที่แม่น้ำโขงสูงกว่าตลิ่ง แม่น้ำป่าสัก จ.เพชรบูรณ์ และแม่น้ำปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีระดับน้ำน้อย ภาคตะวันตก ภาคกลางและภาคใต้มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก โดยต้องเฝ้าระวัง แม่น้ำเพชรบุรี จ.เพชรบุรี แม่น้ำโขง มีแนวโน้มระดับน้ำสูงขึ้น มีน้ำสูงกว่าตลิ่งที่ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และต้องเฝ้าระวังบริเวณ จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ "นายสำเริง กล่าว

​สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มี 5 แห่ง ได้แก่ 1. เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 760 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 107% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1.09 ม. เพิ่มขึ้น 7 ซม.น้ำเข้า 18.44 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 1.44 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลออก 15.21 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการระบายน้ำลดลง

2. เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำ 320 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82% มีน้ำไหลเข้า 11.75 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.08 ล้าน ลบ.ม.น้ำไหลออกวันละ 11.08 ล้าน ลบ.ม. 3. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 8,254 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 93% น้ำเข้า 86.70 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 7.53 ล้าน ลบ.ม.น้ำออก 52.27 ล้าน ลบ.ม. 4. เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 574 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 110% น้ำเข้าวันละ 8.91 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 5.27 ล้าน ลบ.ม. น้ำออก 9.78 ล้าน ลบ.ม.

5. เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 197 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 88% น้ำเข้า 8.37 ล้าน ลบ.ม.ลดลง 6.14 ล้าน ลบ.ม. น้ำออก 10.21 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 0.84 ล้าน ลบ.ม.น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 1.60 ม. ลดลง 5 ซม.