ถก7หน่วยงานวิจัย มุ่งเป้าพัฒนาชาติ-มองอนาคตอาเซียน

ถก7หน่วยงานวิจัย มุ่งเป้าพัฒนาชาติ-มองอนาคตอาเซียน

เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ จัดเสวนาการวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ ชวนมองอนาคตอาเซียน ชิงความโดดเด่นด้านการพัฒนาด้วยข้อมูลความรู้จากงานวิจัย

การสัมมนา “การเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่สาธารณะ” ภายใต้แผนงานวิจัย “การวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ กลุ่มเรื่องประชาคมอาเซียน” ระหว่างวันที่ 28-29 สิงหาคม 2561 โดยมี ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ ดร.สุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงาน องค์กร และ นักวิจัย ร่วมงานสัมมนา ที่โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงเพาเวอร์

โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในนามเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ได้แก่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) จัดงานขึ้น

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ กล่าวถึงการสนับสนุนการวิจัยมุ่งเป้าว่า การดำเนินการสนับสนุนทุนวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ กลุ่มเรื่องประชาคมอาเซียน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ และ เครือข่ายบริหารงานวิจัย ภายใต้การดำเนินงานของฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ (ฝ่าย 1 สกว.) มาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ พัฒนาแนวทางการดำเนินงานเจ้าหน้าที่และนักวิจัย ปรับปรุงกฎหมายระเบียบข้อปฏิบัติตลอดจนนโยบาย สร้างการพัฒนาประเทศที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่จะเชื่อมโยงไปยังการทำงานของประเทศไทยร่วมกับประเทศต่างๆตามแนวทางการพัฒนาของประชาคมอาเซียน

สำหรับการสนับสนุนทุนวิจัย ตั้งแต่ปี 2558-2559 ที่ผ่านมา ได้งานวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์ และศักยภาพที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ หลายโครงการ สกว.จึงได้จัดการสัมมนา “การเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่สาธารณะ” ภายใต้แผนงานวิจัย “การวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ กลุ่มเรื่องประชาคมอาเซียน”เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ และข้อค้นพบจากการวิจัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษา รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบาย

ด้านศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กล่าวว่า การเสริมสร้างบทบาทและการใช้โอกาสประชาคมอาเซียนเป็น 1 ใน 11 นโยบายของรัฐที่ต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรไทยกับประชากรอาเซียน โดยมีแนวโน้มนโยบายที่สำคัญ 3 ประเด็นแรก คือ 1. การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และ ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน 2. การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยทุกระดับ ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงการในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่เปิดเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนายย่อยของไทย 3.การพัฒนาแรงงงานของภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งแรงงานวิชาชีพ แรงงานทักษะ และแรงงานไม่มีทักษะ

ซึ่งแนวโน้มทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านวิชาการที่จะต้องเร่งผลการดำเนินการศึกษา เพื่อใช้ประโยชน์จากการงานวิจัย สู่พัฒนาประชาคมอาเซียน และที่ผ่าน สกว.ได้สนับสนุนงานวิจัยที่มุ่งเป้าฯ ตามกรอบวิจัยต่างๆเป็นจำนวนทั้งสิ้น 60 โครงการ และ มีการนำเสนองานวิจัยในช่วง 2 วันนี้ จำนวน 17 โครงการ เช่นงานวิจัยเรื่องโอกาสของแรงงานข้ามชาติไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : การวิจัยสำรวจธุรกิจ Shared Service Outsourcing ในมาเลเซีย , การปฏิสัมพันธ์ทางการศาสนาในประเทศสมาชิกอาเซียน กรณีศึกษาประเทศอินโดนีเซียและสิงคโปร์

ด้าน ดร.สุริยา จินดาวงษ์ กล่าวปาฐกถานำ เรื่องอนาคตงานวิจัยไทยกับการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ตอนหนึ่งว่า ในโอกาสที่ประเทศไทย จะรับช่วงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในปี 2562 และเป็นวาระที่ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ ที่เป็นประธานอาเซียนในปี 2561นี้ จะต้องมีการเตรียมความพร้อม กำหนดแนวคิดการประชุม และงานวิจัยจะเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดประเด็นในการแลกเปลี่ยน หารือ ที่เกี่ยวเนื่องถึงความร่วมมือและพัฒนาประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยบางเรื่องจะต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างน้อย 2-3 ปี เพื่อชวนมองอนาคตประชาคมอาเซียนอีก 20 ปี ข้างหน้า

อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และวางอนาคตประชาคมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศได้เตรียมจัดตั้ง ศูนย์อาเซียน เพื่อดำเนินการใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย การวิจัยเพื่อให้เกิดความยั่งยืน การรองรับสังคมสูงวัยAgeing societyและ การบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยต้องย้ำว่า การดำเนินการทั้ง 3 ศูนย์ไม่ใช่แค่การศึกษาวิจัย สร้างองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาประเทศไทย แต่เพื่อการพัฒนาร่วมกันของประชาคมอาเซียน นอกจากประโยชน์จากความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว การเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมในครั้งนี้เป็นทั้งโอกาส และ ความท้าทาย ของประเทศไทย จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะมีการประชุมประชาคมอาเซียน โดยประมาณ 161 ครั้ง ทั้งการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียน และ เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการเข้าร่วมการประชุมหลายพันคน รวมถึงสื่อมวลชนที่ร่วมติดตามทำข่าวด้วย