'วิษณุ' เผยใช้ม.44 คลายล็อกพรรคการเมือง หลังประกาศใช้กฎหมาย ส.ส.-ส.ว.

'วิษณุ' เผยใช้ม.44 คลายล็อกพรรคการเมือง หลังประกาศใช้กฎหมาย ส.ส.-ส.ว.

“วิษณุ” เผยใช้ม.44 ออกคำสั่ง คสช.คลายล็อกพรรคการเมือง หลังกฎหมาย ส.ส.-ส.ว. ประกาศใช้แล้ว แย้มปรับไพรมารีโหวต ให้ ตั้ง กก.พรรคเลือกผู้สมัคร

เมื่อวันที่ 28 ส.ค.61 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการคลายล็อกพรรคการเมือง ว่า ในที่ประชุมตนได้สรุปและเสนอสาระของเนื้อหาไปทั้งหมด 9 เรื่อง เพราะไม่ได้มีแต่เรื่องคลายล็อก โดยเนื้อหาเป็นเรื่องที่มีการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมถึงเรื่องที่พรรคการเมืองเรียกร้องมาในที่ประชุมร่วมกับพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ทั้งเรื่องค่าสมัครสมาชิกพรรค ค่าธรรมเนียมสมาชิก จำนวนสมาชิกที่ต้องหาในการจัดตั้งพรรค หรือเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ขณะที่เรื่องไพรมารีโหวต เราจะปรับเปลี่ยนโดยใช้วิธีที่ใกล้เคียง ไม่ใช่วิธีการตามความหมายของคำว่าไพรมารีโหวตทั้งหมด ส่วนรูปแบบทั้งหมดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ แต่โน้มเอียงมาทางข้อเสนอที่จะให้พรรคตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 11 คน ไปรับฟังความเห็นแต่ละพื้นที่เพื่อเสนอกรรมการบริหารพรรคในการคัดเลือกผู้สมัคร ซึ่งต้องรอให้ คสช.ดูรายละเอียดเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย แต่ไม่ต้องนำเข้าที่ประชุม คสช.แล้ว

นายวิษณุ กล่าวต่ออีกว่า เรื่องดังกล่าวจะใช้มาตรา 44 ออกเป็นคำสั่ง คสช. ซึ่งจะออกมาภายหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศใช้แล้ว ดังนั้น เย็นวันนี้ (28 ส.ค.) ไม่ต้องรอ เพราะทุกอย่างมันคือล็อก เมื่อจะคลายจะต้องคลายด้วยกฎหมาย ไม่เช่นนั้นมันจะเกิดปัญหาความซับซ้อนของกฎหมาย อะไรก่อน อะไรหลัง อะไรใช้ อะไรไม่ใช้ แล้วพรรคการเมืองจะปฏิบัติไม่ถูก หลักที่ คสช.ถือคือ ทำให้เกิดประโยชน์และเกิดความเท่าเทียมกันระหว่างพรรคเก่า พรรคใหม่ พรรคใหญ่ และพรรคเล็ก

เมื่อถามว่า รอบนี้มั่นใจว่าทุกอย่างจะสะเด็ดน้ำ ไม่ต้องมาแก้ไขใหม่อีกแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คิดว่าคงสะเด็ดน้ำ แต่ยังไม่แห้งทั้งหมด เมื่อถามอีกว่า ในที่ประชุม คสช.ได้พูดคุยถึงกรอบเวลาหาเสียงของพรรคการเมืองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องการหาเสียง ไม่เกี่ยวกับคำสั่ง คสช. เพราะการหาเสียงจะทำได้เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหลักที่ใช้มาตลอด และพระราชกฤษฎีกาจะออกมาต่อเมื่อเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง 150 วัน และตนไม่ขอไปตีความว่าอะไรคือการหาเสียงและไม่ใช่การหาเสียง ต่อข้อคำถามที่ว่าว่า ในที่ประชุม คสช.ได้หารือถึงเรื่องการแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี แต่เราจะแก้ไขให้พรรคการเมืองติดต่อกับสมาชิกผ่านช่องทางสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ ถ้าพูดตรงๆ คือ ทางแอพพลิเคชั่นไลน์ แต่ถ้าไม่ใช่สมาชิกจะกลายเป็นการหาเสียง ส่วนถ้าเป็นเฟซบุ๊กก็ไม่สามารถเปิดเป็นสาธารณะได้ เพราะนั่นคือ วิธีหาเสียง