ม.44 บีบ วช.ปรับบทบาทเป็นศูนย์ข้อมูลวิจัย

ม.44 บีบ วช.ปรับบทบาทเป็นศูนย์ข้อมูลวิจัย

สนง.วิจัยแห่งชาติ รับผลจากมาตรา 44 ปรับบทบาทจากองค์กรทุนเป็นศูนย์ข้อมูลวิจัยเชิงนโยบาย และบูรณาการงานข้ามกระทรวง ขับเคลื่อนโครงการวิจัยของรัฐบาล อาทิ สเปียร์เฮด โครงการวิจัยกินได้  ศูนย์วิจัยชุมชน

หลังจากที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งใช้มาตรา 44. ยุบ 3 บอร์ดวิจัยหลักที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คือ บอร์ดวิจัยแห่งชาติหรือสภาวิจัย บอร์ดนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติและบอร์ดนวัตกรรมแห่งชาติ แล้วตั้งสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่งผลให้บทบาทขององค์กรทุนอย่าง วช.ต้องปรับเปลี่ยน 


ศ.นพ.สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมที่จะปฏิบัติงานในฐานะสำนักงานเลขานุการร่วม สวนช.  โดยเป็นหน่วยงานนโยบายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งจะปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญด้านการวิจัยของประเทศ ที่รัฐบาลให้ความสนใจขับเคลื่อนเป็นพิเศษ  เช่น โครงการธนาคารปูม้า โครงการธนาคารต้นไม้  โดยได้รับมอบหมายให้ทำงานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการดำเนินโครงการในกลุ่มโครงการวิจัยกินได้ ที่ได้รับมอบหมายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีบทบาทที่ต้องปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมก็คือ  การเป็นศูนย์ข้อมูลกลางในการทำวิจัย ที่นำเสนอประเด็นต่างๆ เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายและบูรณาการการทำงานข้ามกระทรวง  อาทิ โครงการที่เกี่ยวกับสุขภาพประชาชน มีตั้งแต่การวิจัยที่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ฯลฯ 


2 ปีที่ผ่านมา วช.ได้ลดบทบาทของการเป็นแหล่งทุนวิจัยมาทำหน้าที่บริหารงบประมาณวิจัย บริหารนโยบาย ส่วนหน้าที่ในการให้ทุนการวิจัยจะเป็นของหน่วยงานให้ทุนวิจัยอื่นๆ อาทิ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)  สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ส่วน วช. ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดูแลระบบข้อมูลการวิจัยของประเทศ ซึ่งมีกว่า 400 หน่วยงานในมหาวิทยาลัยและกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีศูนย์วิจัยจำนวนมาก


นอกจากนี้ยังมีเรื่องการวิจัยชุมชน  ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในยุทธศาสตร์การวิจัย โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายว่า ประชาชนและพื้นที่ต้องได้ประโยชน์ จึงขับเคลื่อนโครงการกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า ศูนย์วิจัยชุมชน สนับสนุนการเพิ่มศักยภาพจากจุดเด่นของชุมชนนั้นๆ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์ โดยนำกระบวนการวิจัยทั้งหมดเข้ามาสนับสนุน  ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการใน 4 ภาค ภาคเหนือและภาคใต้ภาคละ 2 แห่ง  ภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคละ 1แห่ง  ตัวอย่างเช่น ศูนย์วิจัย"ยะลาวากิว" เป็นฟาร์มเลี้ยงโควากิว ที่มีไขมันดีแทรกสูง ให้ประโยชน์กับผู้เลี้ยงใน 4 จังหวัดชายแดนใต้, โครงการเพาะเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ จ.ตรัง  นอกจากนี้มีศูนย์วิจัยชุมชนเรื่องลิ้นจี่ พันธุ์ค่อมในจ.สมุทรสงคราม ส่วนภาคเหนือ อำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ มี 2 แห่ง ศูนย์แรกดูเรื่องเครื่องจักสาน อีกศูนย์ผลิตภัณฑ์เกษตรสีเขียวต่อยอดการตลาด  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อำเภอวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด เป็นศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร  โดยใช้สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น เป็นกลไกในการขับเคลื่อน ไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชน กลไกคล้ายกับธนาคารปูม้า หัวใจหลักคือประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์