แจ้งข้อหายกครัว นอมินีเรือฟีนิกซ์ล่ม ปปง.เผยเส้นทางการเงินชัด

แจ้งข้อหายกครัว นอมินีเรือฟีนิกซ์ล่ม ปปง.เผยเส้นทางการเงินชัด

แจ้งข้อหายกครัว นอมินีเรือฟีนิกซ์ล่ม คุมตัวมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาชาวจีน เจ้าของทุนและบริษัทตัวจริงหลบหนีออกนอกประเทศ

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ที่ห้องประชุมชั้น 3 กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ชุดคลี่คลายคดีเรือบรรทุกนักท่องเที่ยว ฟีนิกซ์ เกิดภัยพิบัติทางทะเล จ.ภูเก็ต พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท., พล.ต.ต.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รอง ผบช.สกบ., พล.ต.ต.ดำรัส วิริยะกุล รอง ผบช.ภ.8, พล.ต.ต.ปรีดี พงศ์เศรษฐสันต์ รองผู้บัญชาการ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และนายพีระพัฒน์ อิงพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการ กองคดี 1สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ( ปปง.) ร่วมกันแถลงความคืบหน้าผลการดำเนินคดีเหตุเรือฟินิกซ์ล่ม เมื่อวันที่  5 กรกฎาคม 2561 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิต จำนวน 47 ราย โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในส่วนของเจ้าของเรือฟินิกซ์ พร้อมด้วยมารดาและพี่ชาย รวมถึงชายชาวจีน 1 คน ด้วย

พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผบ.ตร. กล่าวว่า ด้วยเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 ได้เกิดอุบัติเหตุเรือฟินิกซ์บรรทุกนักท่องเที่ยวจำนวน 89 คน พร้อมพนักงานเรืออีกจำนวน 12 คน รวมทั้งสิ้น 101 คนอับปางในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตจำนวน 47 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัสจำนวน 1 คน และบาดเจ็บจำนวน 11 คน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 451/2561 เรื่อง แต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน เนื่องจากเป็นคดีสำคัญเป็นคดีที่น่าสนใจ และให้ทำการสืบสวนความผิดเกี่ยวพันกับคดีอื่นเชื่อมโยงกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหลายกลุ่ม รวมทั้งนิติบุคคล กรรมการ ผู้จัดการ โดยพนักงานสืบสวนสอบสวนได้ทำการสืบสวนสอบสวนมาโดยตลอดแล้ว

แจ้งข้อกล่าวหา

จากการตรวจสอบพบว่าเรือฟินิกซ์ที่อับปางนั้นเป็นของบริษัท ทีซีบลู ดรีม จำกัด ต่อมาจากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย นายสมจริง บุญยัง อายุ 50 ปี กัปตันเรือฯ นายอ่อนจันทร์ กัณหาโยคีอายุ 47 ปีในช่างเรือฯ น.ส.วรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกาล อายุ 26 ปี ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้บริหารและกรรมการบริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัดในความผิดฐาน “กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส และได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ปัจจุบันการดำเนินการมีความคืบหน้าไปมากว่า 90%  และจะสามารถส่งสำนวนการสอบสวนให้กับพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

"จากการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม พบว่าบริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของเรือฟินิกซ์ เป็นการประกอบกิจการในลักษณะนอมินี โดยผู้เป็นนายทุนแท้ๆ นั้น เป็นชาวต่างชาติ และใช้คนไทยบังหน้าในการประกอบกิจการ จึงมีการร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.ฉลอง และนำเสนอหลักฐานต่อศาลจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนอมินีข้ามชาติ รวม 4 คน ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นผู้ต้องหาที่มีการจับกุมไปแล้วในข้อหาประมาท คือ น.ส.วรลักษณ์ และถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ ตามหมายจับศาลจังหวัดภูเก็ต ที่ 357/2561 ลงวันที่ 10 ส.ค. 2561 ซึ่งจะได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป

แจ้งข้อกล่าวหา

ส่วนอีก 2 คน เป็นคนไทยที่ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท นายจักรพันธ์ ฤกษ์ชัยกาลและนางยินดี ฤกษ์ชัยกาล (ผู้ถือหุ้นบริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด) ตามหมายจับศาลจังหวัดภูเก็ต ที่ 371/2561 ลงวันที่ 23 ส.ค. 2561 ขณะนี้ได้ควบคุมตัวไว้แล้ว จะได้เร่งรวบรวมพยานหลักฐานส่งสำนวนให้พนักงานอัยการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป และอีก 1 คน เป็นชาวต่างชาติ คือ นายเหล่ย ฮัว เจ้าของเงินทุนและเจ้าของบริษัทที่แท้จริงตามหมายจับศาลจังหวัดภูเก็ต ที่ 358/2561 ลงวันที่ 10 ส.ค. 2561 ซึ่งขณะนี้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ในฐานความผิดร่วม “กันเป็นอั้งยี่ ,ร่วมกันประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ธุรกิจนำเที่ยว) โดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่เพียงผู้เดียว และถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในบริษัทจำกัด เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและเป็นการที่คนต่างด้าวยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยกระทำการดังกล่าว” พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ กล่าว

ขณะที่ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท.ท กล่าวว่า การที่ทาง ผบ.ตร. ได้มีการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนในคดีนี้ขึ้นมานั้น เพื่อจะคลี่คลายคดีให้ได้โดยเร็ว และต้องทำความจริงให้ปรากฏกรณีของนอมินีข้ามชาตินั้นต้องยอมรับว่ายังมีอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภูเก็ตยังมีอยู่หลายจุด และทางเจ้าหน้าที่ก็มีข้อมูลหมดแล้ว จึงขอให้ผู้กระทำการอยู่ได้เลิกไป และการจะแก้ปัญหาให้เด็ดขาดคนภูเก็ตต้องช่วยกันตรวจสอบ และแจ้งเบาะแส  เพราะเมื่อไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงก็จะไม่มีความรู้เรื่องของดูแลรักษาเรือหรือการบริหารเรือ การเอาเรือออก คำนึงเฉพาะเรื่องกำไรขาดทุนเป็นหลัก จากพยานหลักฐานทั้งหมดและมีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้วในข้อหาประมาท รับจ้างเป็นนอมินีคนต่างชาติ หรืออั้งยี่ซ่องโจร เหล่านี้ เป็นความผิดมูลฐานความฐานฟอกเงิน และยึดทรัพย์ทั้งสิ้น

"กรณีของ น.ส.วรลักษณ์ นั้น จากการตรวจสอบพบว่า หลังจากจบการศึกษา เริ่มต้นด้วยการเป็นกรรมการบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยว หลายบริษัทด้วย ตั้งแต่ ปี 58- 60 กระทั่งในปี 2560 เป็น กรรมการผู้จัดการบริษัท ทีซี บลูดรีมจำกัด เหล่านี้บ่งบอกว่าเป็นนอมินีทั้งสิ้น มาตรการ ปปง. ความผิดฐานฟอกเงิน มาตรการภาษี แจ้งว่ามีรายได้เดือนละ 200,000 บาท แต่ความจริงมีรายได้เดือนละ 1 ล้านบาทเศษ เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีโดยชัดจน ซึ่งทั้งหมดจะมีการรายงานไปยังรัฐบาลจีนให้ทราบสาเหตุว่า สิ่งที่ทางการจีนต้องการคำตอบ คืออะไรที่เป็นสาเหตุทำให้คนเสียชีวิต ส่วนลักษณะทางกายภาพนั้นเรือกำลังทำการกู้อยู่ แต่เรามีข้อมูลที่ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยการสอบปากคำคนต่อเรือฟินิกซ์  ซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ได้ทำการสั่งปิดไปแล้ว เพราะต่อเรือโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการดำเนินคดีไปแล้ว ส่วนคนที่รับจ้างต่อเรือก็ไม่ได้มีอาชีพต่อเรือโดยตรง  ความเสียหายที่เกิดขึ้นมากมายมหาศาล 47 ศพ" พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ กล่าว

แจ้งข้อกล่าวหา

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ว่า ในส่วนของมาตรการระยะยาวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นนั้น ได้มีการตรวจสอบเรือนำเที่ยวที่มีอยู่ 400 กว่าลำเรียบร้อยแล้ว พบเรือไม่สมบูรณ์จำนวนประมาณ 30 ลำ ได้สั่งนำขึ้นทำการแก้ไขให้สมบูรณ์ และเรือที่ผ่านการตรวจแล้วจะมีการลายเซ็นของเจ้าท่าฯ กำกับ หากเกิดอะไรขึ้นเจ้าท่าฯ ภูเก็ตจะต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญา นอกจากนี้ในการปล่อยเรือก็จะไม่มีการปล่อยเรือด้วยแฟ็กอีกต่อไป โดยมีการจัดเจ้าหน้าที่จาก 4 หน่วยงาน ได้แก่ ทหารเรือ ไลฟ์การ์ด ตำรวจท่องเที่ยวและเจ้าท่า ตรวจสอบความพร้อมของเรือทั้ง 24 ท่า ที่กำหนดก่อนปล่อยเรือออกไปทะเล เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางกลับเข้ามาอีก ดังนั้นสถานการณ์ท่องเที่ยวจึงไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการจัดระเบียบในบ้าน ส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องก็มีการดำเนินการคดีไปหมดแล้วเช่นกัน ในข้อกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และได้ส่งเรื่องให้กับทาง ปปช.

พล.ต.ต.ปรีดี พงศ์เศรษฐสันต์ รองผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กล่าวว่า ในส่วนของการตรวจสอบพยานหลักฐาน ในส่วนของเรือที่จะมีการกู้ขึ้นมานั้น ซึ่งกระบวนการตรวจพิสูจน์จะร่วมกับพนักงานสอบสวน และผู้เชี่ยวชาญการต่อเรือทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เมื่อเรือขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ การตรวจสอบทางกายภาพของเรือ เช่น สภาพ ร่องรอยความเสียหาย ขนาด เป็นต้น จากนั้นจะร่วมกันตรวจพิสูจน์โครงสร้างของเรือตามสภาพจริงเทียบกับแบบแปลนที่ได้รับการอนุมัติว่าตรงกันหรือไม่ และสุดท้ายตรวจสอบแบบแปลนที่ออกมาตรงตามมาตรฐานการต่อเรือหรือไม่ ซึ่งมีมาตรฐานสากลและกฎข้อบังคับในการตรวจเรือ  ซึ่งจะมีความชัดเจนและโปร่งใส เพราะเป็นการดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ

นายพีระพัฒน์ อิงพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการ กองคดี 1 ปปง. กล่าวว่า ในส่วนของ ปปง.ได้มีการตรวจสอบในเรื่องของเส้นทางการเงินมีความชัดเจนว่า กลุ่มผู้ต้องหามีการรับเงินจากกลุ่มทุนในต่างประเทศ และส่งเงินมาให้กับผู้ต้องหา ขณะเดียวกันมีการส่งเงินจากต่างประเทศเข้ามาที่บริษัทต่อเรือ และนำไปชำระค่าเรือ ส่วนของผู้ต้องหาเมื่อประกอบการรายได้แล้วมีการนำเงินโอนออกไปต่างประเทศ มีเส้นทางการเงินที่ระบุถึงบุคคลที่โอนเข้ามาและโอนออกมา ส่วนกรณีที่มีที่ปรึกษากฎหมายออกมาบอกว่า มีการต่อรองหรือยัดข้อหานอมินีนั้น ซึ่งลักษณะเช่นนี้อาจจะมีในกรณีที่พยานหลักฐานไม่มั่นคงหรือแน่ชัดพอ แต่คดีนี้เมื่อเส้นทางการเงินถูกส่งให้พนักงานสอบสวนตั้งแต่ช่วงแรกๆ ยังไม่เห็นเหตุผลว่าจะต่อรองเพื่อให้รับสารภาพหรือเพื่อลดโทษต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดทำไม และในส่วนของเจ้าหน้าที่ ปปง.ก็ได้มีการนำเส้นทางการเงินเข้าไปสอบถามผู้ต้องหาในเรือนจำด้วยเช่นกันว่าเป็นเช่นไร จึงไม่อยากให้มีการสร้างความสับสนกับประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพราะมีผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้