ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม10 ประเทศอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ครั้งที่39

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม10 ประเทศอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ครั้งที่39

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม 10 ประเทศอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 สมัยพิเศษ รวมพลังหารือประเทศบวกสาม “จีน ญี่ปุ่น เกาหลี” และ “สหพันธรัฐรัสเซีย” มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนในภูมิภาค พร้อมมุ่งสู่ความเป็นเอกภาพ

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 สมัยพิเศษ (Special SOM-39th AMAF)และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ว่า การเกษตรคือวิถีชีวิตของประชาชนในอาเซียน จึง 8 ใน 10 ของประเทศอาเซียนต้องพึ่งพาภาคการเกษตรและผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งปัจจุบันความยั่งยืนในภาคการเกษตรประสบกับภัยคุกคามจากความท้าทายต่าง ๆ อาทิ ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน การประมงที่ขาดการควบคุม (IUU) และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามเพื่อสร้างความมั่นใจว่าภาคการเกษตรจะยังคงเป็นแหล่งอาหารและรายได้หลักของอาเซียน และจะยังคงเป็นแหล่งผลิตอาหารอันดับต้นของโลก รัฐบาลจึงต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับกับความท้าทายในรูปแบบใหม่ เพื่อจะเป็น “ภาคการเกษตรที่ฉลาดปราดเปรื่อง และยั่งยืน” ซึ่งจะต้องร่วมมือกันในภูมิภาคเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต เสริมสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัย ส่งเสริมการตลาดนำการผลิต และสร้างเสถียรภาพราคาพืชผล โดยใช้ความรู้และนวัตกรรม โดยเฉพาะการส่งเสริมเทคโนโลยีและเกษตรอัจฉริยะ 4.0 การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่เพื่อก้าวเข้าสู่ภาคการเกษตรและกลายเป็นเกษตรกรยุคใหม่ รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชนในรูปแบบประชารัฐด้วย


ทั้งนี้ การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 สมัยพิเศษ เป็นระดับปลัดกระทรวงที่กำกับดูแลด้านการเกษตรและป่าไม้ของประเทศอาเซียน 10 ประเทศ คือ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม นอกจากนี้ จะมีการหารือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO)องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) และสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum - Grow Asia) และการหารือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศบวกสาม คือ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งการหารือระหว่างอาเซียนกับสหพันธรัฐรัสเซีย


“ความร่วมมือจากประเทศอาเซียนจะสามารถก้าวไปข้างหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนในภูมิภาค รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในภาคการเกษตร เพื่อนำไปสู่ความเป็นเอกภาพในประชาคมอาเซียน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติในปี 2030 และควรใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ภายใต้แนวคิด win-win partnership โดยผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาองค์การระหว่างประเทศ สถาบันการเงิน อีกทั้งต้องบูรณาการแนวคิดที่จะต้อง “ร่วมกันคิด ร่วมกันทำงาน และร่วมมือกัน” จะทำให้สามารถก้าวไปได้อย่างมั่นคงโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสิ่งเหล่านี้จะนำให้ประชาชนและเกษตรกรมีความสุขได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายลักษณ์ กล่าว