รายย่อยไอเฟค ร้องอธิบดีศาลล้มละลายกลาง สกัดยื่นฟื้นฟูฯ

รายย่อยไอเฟค ร้องอธิบดีศาลล้มละลายกลาง สกัดยื่นฟื้นฟูฯ

รายย่อยไอเฟคร้องขอความเป็นธรรมอธิบดีศาลล้มละลายกลาง หลัง “ศุภนันท์” ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ หวังดึงบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเป็นผู้บริหารแผนเอง

นางสาวเยาวลักษณ์ ฤทธิ์สมจิตต์ ในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากการลงทุนในหุ้นบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC) เปิดเผยว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อยไอเฟคได้ทำหนังสื่อร้องความเป็นธรรมถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากพบว่ามีความพยายามของบุคคลซึ่งอ้างตนเป็นเจ้าหนี้ของไอเฟค ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท ต่อศาลล้มละลายเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2561

ทั้งนี้ การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไอเฟคในครั้งนี้ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการสมคบกับกลุ่มบุคคลที่ครอบงำกิจการไอเฟค โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอาศัยข้อกฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้านกฎหมาย ทั้งๆที่ไอเฟค เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนซื้อขายหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินเป็นจำนวนมาก แต่ไอเฟคได้ถูกกลุ่มบุคคลครอบงำกิจการไว้โดยไม่ชอบด้านกฎหมาย ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้

รายย่อยไอเฟค ร้องอธิบดีศาลล้มละลายกลาง สกัดยื่นฟื้นฟูฯ

นางสาวเยาวลักษณ์ กล่าวว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อยไอเฟคหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากอธิบดีศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่านายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งถูกก.ล.ต. กล่าวโทษ และล่าสุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ถูกก.ล.ต.สั่งปรับเป็นเงินกว่า 22 ล้านบาท โทษฐานใช้ข้อมูลอินไซด์ในการขายหุ้นไอเฟค และมีผลให้ต้องออกจากตำแหน่งทันที พร้อมกับการขาดคุณสมบัติการเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน และนายศุภนันท์ถือเป็นกรรมการในฝั่งของนายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการไอเฟค ซึ่งถูกก.ล.ต.กล่าวโทษ รวมถึงให้พ้นจากตำแหน่งและขาดคุณสมบัติการเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากทำผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ จัดการเลือกตั้งกรรมการบริษัท ด้วยวิธีที่มิชอบด้วยกฎหมาย

“สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับไอเฟคในช่วงเวลาเกือบ 2 ปี สะท้อนให้เห็นว่าชัดเจนว่ามีความพยายามของอดีตผู้บริหารไอเฟค พยายามที่จะครอบงำกิจการ โดยอาศัยช่องว่างของกระบวนการทางกฎหมาย ขัดขวางการคืนอำนาจผู้ถือหุ้น ขัดขวางกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งเชื่อว่าศาลจะรับฟัง และคัดค้านกระบวนการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับไอเฟคมากไปกว่านี้”

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ากลุ่มบุคคลที่อ้างตัวเป็นเจ้าหนี้ไอเฟคเตรียมที่จะเสนอให้นายศุภนันท์ เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่อาจที่จะไว้วางใจได้ เพราะถือเป็นกลุ่มบุคคลที่ทำให้ไอเฟคได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และที่สำคัญไม่มีใครอยากให้ไอเฟคออกจากตลาดฯ