'ธีระชัย' จี้ รัฐบาลวางแผนเลิกใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร

'ธีระชัย' จี้ รัฐบาลวางแผนเลิกใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร

"ธีระชัย" จี้ รัฐบาลวางแผนเลิกใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร ชี้ไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้าอันดับ 4 ของโลก

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 256 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala แนะนำให้ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรของไทย โดยระบุว่า

“ถึงเวลาเปลี่ยนวิถีเกษตรไทย”
ธรรมชาติมนุษย์ เมื่อรายได้สูงขึ้น จะต้องการมากขึ้น: อาหารอร่อยแปลก สดใหม่ และปลอดภัย ราคาแพงขึ้นก็ยอม
ประชากรในอาเซียน จีน และอินเดีย จะมีรายได้สูงขึ้นตลอดหลายสิบปีข้างหน้า ทำอย่างไรเกษตรกรไทยจะปรับตัวไปทางนี้?

1. ต้องกดดันให้ลดการใช้เคมีอันตราย

ทำไมคนไทยเมื่อไปเที่ยวญี่ปุ่นจึงกินผักผลไม้ได้อย่างสนิทใจ หลายคนกินสตอเบอรี่โดยไม่ล้างด้วยซ้ำ?
เพราะญี่ปุ่นน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยอาหาร แม้มีการใช้เคมี ก็มีกติกาต้องทอดเวลาให้หมดฤทธิ์ลงไปก่อน
ดังนั้น ทางการไทยจึงควรวางแผนยกเลิกเคมีอันตรายได้แล้ว

รูป 1 จะเห็นว่า ไทยนำเข้า ยาฆ่าหญ้า อันดับ 4 ของโลก ยาฆ่าแมลงอันดับ 5 ทั้งที่มีพื้นที่เกษตรเป็นเพียงอันดับ 48
รูป 2 จะเห็นว่าการใช้เคมีอันตราย น่าจะมีส่วนทำให้จำนวนการตายจากมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนบัดนี้เป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง

ความคืบหน้าด้านนี้ยังมีน้อย เพราะส่วนราชการมักจะให้เวลา ดังเห็นได้จากการลงคะแนนในรูป 3 และรูป 4-6 ประกอบข่าวข้างล่าง

“มูลนิธิชีววิถี (BioThai) และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ระบุว่ารายงานของ ‘อนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต’ สรุปว่า

▪ไม่มีความเสี่ยงจากการบริโภค
▪ไม่มีสารอื่นที่ดีกว่า

ซึ่งเป็นที่มาของการลงมติไม่แบนสารพิษที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 สารดังกล่าวคือ ทั้ง 3 สารพิษดังกล่าว
ซึ่งสวนทางกับนานาประเทศที่ต่างแบนพาราควอตไปแล้ว 51 ประเทศ เตรียมการแบนในปี 2020 อีก 2 ประเทศคือจีนและบราซิล”

2. ต้องช่วยชุมชนจัดระเบียบฉลากสินค้าอินทรีย์ที่เชื่อถือได้
รัฐควรจะประสานกับชุมชนในการกำหนดมาตรฐานสำหรับฉลากแต่ละกลุ่มสินค้า และวิธีกำกับดูแลกันเองภายในแต่ละชุมชน ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอก เพื่อช่วยยืนยันความน่าเชื่อถือของฉลากชุมชน

3. รัฐควรจัดงบประมาณอุดหนุนชุมชนที่ผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
ตามปกติเกษตรกรควรจะขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้แพงกว่าคุ้มกับต้นทุนที่สูงขึ้น
แต่ในช่วงแรกที่ปรับตัว เกษตรกรอาจจะไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปให้ผู้บริโภคได้ทั้งหมด ประกอบกับจำนวนผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อแพงขึ้นอาจจะยังมีไม่พอ รัฐจึงควรพิจารณาให้เงินแก่ชุมชนเพื่ออุดหนุนต้นทุนที่สูงขึ้นบางส่วน