'รมช.เกษตรฯ' ลุยตลาดนำการผลิต

'รมช.เกษตรฯ' ลุยตลาดนำการผลิต

"ลักษณ์" ลุยตลาดนำการผลิตเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาด และแหล่งรับซื้อด้วยระบบ E-Matching Market ขณะที่ภาคเอกชน ตื่นตัว หนุนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระพิรุณเต็มสูบ

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2561 นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิทัล ครั้งที่ 2/2561 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติงานของคณะทำงานแต่ละคณะ ตามกรอบการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และกิจกรรมการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิทัล ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2561-2563) ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” โดยยุทธศาสตร์พระพิรุณ ของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเร่งแก้ไขปัญหา เรื่อง สินค้าล้นตลาด และแหล่งรับซื้อ หรือตลาดรองรับผลผลิตด้านการเกษตรให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยมี นายกฤษ อุตตมะเวทิน เลขานุการกรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรรมการและเลขานุการ ร่วมประชุม

นายลักษณ์ กล่าวว่า แผนการดำเนินการในระยะเร่งด่วนในปี 2561 ประกอบด้วย 6 กิจกรรม ได้แก่ 1.กิจกรรมเปิดแผนยุทธศาสตร์และประกาศทิศทางการดำเนินงาน 2.กิจกรรมเจรจาสร้างเครือข่ายความร่วมมือ 3.กิจกรรมพัฒนาเว็บไซต์ DGTFarm ให้เป็นแอพพลิเคชั่น Hello Trade 4.กิจกรรมฝึกอบรม กำหนดหลักสูตรการเรียนรู้และสำรวจฐานผู้ใช้งาน 5.มหกรรม MOU ความร่วมมือหน่วยงาน และ 6.กิจกรรมเปิดตัวให้บริการแอพพลิเคชั่นและนวัตกรรมเป็นของขวัญประชาชน ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” โดยยุทธศาสตร์พระพิรุณ ของนาย กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเร่งแก้ไขปัญหา เรื่อง สินค้าล้นตลาด และแหล่งรับซื้อ หรือตลาดรองรับผลผลิตด้านการเกษตรให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

ส่วนความก้าวหน้าของนโยบายตลาดนำการผลิต ยุทธศาสตร์พระพิรุณ ภาคเอกชนมีความตื่นตัว และร่วมให้การสนับสนุน การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระพิรุณ ซึ่งขณะนี้หลายองค์กรในภาคเอกชนเข้าร่วม และจากการที่คณะกรรมการ ได้แสวงหาความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ มีพันธมิตรให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น อาทิ สถาบันการเงินที่เข้ามาสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) ระบบสินเชื่อหรือบริการทางการเงินแก่เกษตรกร และ SME เอกชนที่จะเข้ามาสนับสนุนระบบบริหารจัดการร้านค้าปลีก ระบบคลังสินค้า และระบบลอจิสติกส์ บริการขนส่งสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งภายในประเทศและการส่งออก รวมถึงสถาบันการศึกษาที่จะร่วมพัฒนาสินค้าและตราสินค้า (Brand) เพื่อทำการตลาดทั่วโลก

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือกำหนดแผนการฝึกอบรม นำร่องวิทยากรตัวคูณ เพื่อขยายแนวทาง การดำเนินงานให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสมาพันธ์ SME ไทย โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับสำนักแผนงานและโครงการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2561 ส่วนการจัดทำความตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระพิรุณ (มหกรรม MOU) คาดว่าจะร่วมลงนามพร้อมกันในเดือนตุลาคม 2561 นี้