มกอช. รุกสกัดกีดกันการค้าเร่งเข็นมาตรฐานผลิตไก่เนื้อ

มกอช. รุกสกัดกีดกันการค้าเร่งเข็นมาตรฐานผลิตไก่เนื้อ

"มกอช."รุกสกัดมาตรการกีดกันทางการค้า"อียู" เร่งเข็น"ร่างมาตรฐานสวัสดิภาพผลิตไก่เนื้อ"เพิ่มขีดความสามารถการส่งออกไก่เนื้อสด/แปรรูปของไทยในตลาดโลก

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2561 นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของประเทศไทยมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้นเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก โดยมีมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่ของไทยสูงเป็นอันดับ 5 ของโลกคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท รองจากบราซิล สหรัฐอเมริกา


โดยผู้นำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง เม็กซิโก สหภาพยุโรป และมีแนวโน้มการเปิดตลาดส่งออกไก่เนื้อ และผลิตภัณฑ์ของไทยที่เพิ่มขึ้นหลายประเทศอีกด้วย เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศและป้องกันมาตรการกีดกันทางการค้าด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่มีแนวโน้มงัดมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น มกอช.จึงจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติที่ดีทางด้านสวัสดิภาพสัตว์: ระบบการผลิตไก่เนื้อขึ้น

โดยปรับปรุงจากการศึกษาฯ และเป็นพื้นฐานหลักสวัสดิภาพสัตว์สำหรับระบบการเลี้ยงไก่เนื้อของ OIE ซึ่งร่างมาตรฐานฯ ฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีทางด้านสวัสดิภาพสัตว์ : ระบบการผลิตไก้เนื้อแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการกำหนดมาตรฐานต้องมีการรับฟังความเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงร่างมาตรฐานดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ก่อนที่จะประกาศเป็นมาตรฐานของประเทศไทยต่อไป

เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะสหภาพยุโรป มีความต้องการให้มีการพัฒนา สวัสดิภาพสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม เพื่อการบริโภค เพิ่มมากยิ่งขึ้น สัตว์จะต้องได้รับการฆ่าอย่างไม่ทารุณและได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี ซึ่งประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์นี้ก็ถูกนำมาใช้กับสินค้านำเข้าที่ต้องมีมาตรฐาน ด้านสวัสดิภาพที่ทัดเทียมกับสินค้าเนื้อสัตว์ ที่ผลิตได้ในประเทศกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน ดังนั้นการประยุกต์ใช้หลักสวัสดิภาพสัตว์ และข้อกำหนดในบริบทที่เหมาะสมกับประเทศไทย จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ต่อระบบการผลิตปศุสัตว์ของไทย และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สินค้าเกษตรปศุสัตว์ส่งออกในอนาคต

สำหรับประเทศไทย มกอช. ได้ส่งเสริมหลักการพัฒนาด้านสวัสดิการไก่เนื้อ โดยเพิ่มเนื้อหาเข้าไปในมาตรฐานฟาร์มไก่เนื้อ (มกษ. 6901-2552) ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการคุ้มครองและดูแลสวัสดิภาพสัตว์ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม มาตรฐานและระเบียบของกรมปศุสัตว์ดังกล่าว ยังขาดเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการและข้อแนะนำในการปฏิบัติต่อสัตว์ และการประเมินผลลัพธ์ของการจัดการ (outcome based-measurable) ที่วัดจากตัวสัตว์ตามหลักการสากลของ OLE พิจารณาแล้วเห็นว่าควรมีการยกร่างมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีทางด้านสวัสดิภาพสัตว์ : ระบบการผลิตไก่เนื้อ ให้มีข้อแนะนำการปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

“สถานการณ์ผลิตและการตลาดไก่เนื้อของไทย ปัจจุบันผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ ประมาณ 1.620 ล้านตัน/ปีหรือคิดเป็น 70% และสำหรับส่งออกประมาณ 0.70 ล้านตัน/ปีหรือคิดเป็น 30% โดยแบ่งเป็นไก่แปรรูป 470,000 ตัน หรือคิดเป็น 67% และเนื้อไก่สด 230,000 ตัน/ปีหรือคิดเป็น 33% โดยคิดเป็นปริมาณส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์แต่ละปีประมาณ 8 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1 แสนล้านบาท”นางสาวเสริมสุขกล่าว