ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ ดัน ‘เอไอ’ พลิกโฉมไทย

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์  ดัน ‘เอไอ’ พลิกโฉมไทย

ยุคที่ “ดิจิทัล” เข้าไป “ดิสรัป” ทุกวงการ “เอไอ” พลิกโฉมธุรกิจทั่วโลก เป็นที่น่าจับตามองอย่างมากว่ายักษ์ “ไมโครซอฟท์” ที่ชื่อชั้นติดลมบนในตลาด “ซอฟต์แวร์” มาหลายทศวรรษ จะมีกลยุทธ์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสมรภูมิไอทีอย่างไร

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจของไมโครซอฟท์ระดับโลกในปีงบประมาณ 2562 มาพร้อมกับธีม “Accelerate Together” ที่จะมีการทำงานร่วมกันตั้งแต่ระดับประเทศ พันธมิตรทางธุรกิจ ไปจนถึงลูกค้า

สำหรับประเทศไทยโฟกัสเรื่อง “Ai for Thailand” มุ่งนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) เข้ามาช่วยพลิกโฉมประเทศไทยโดยวางตำแหน่งตนเองเป็น “แพลตฟอร์ม” เน้นทำงานร่วมกับพันธมิตร นักพัฒนา เพื่อนำเสนอบริการที่เหมาะกับความต้องการของตลาดท้องถิ่น

โดย 4 โซลูชั่นหลักที่จะให้บริการได้แก่ โมเดิร์น เวิร์คเพลส, บิสิเนส แอพลิเคชั่น, แอพพลิเคชั่นและอินฟราสตรักเจอร์, และดาต้าและเอไอ ไมโครซอฟท์มุ่งพัฒนาเอไอให้มีศักยภาพหลากหลายด้าน นอกจากการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลแล้ว ยังรวมถึงความสามารถในการรับรู้โลกภายนอกในระดับที่ทัดเทียมกับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ศักยภาพด้านการมองเห็นและรับรู้วัตถุ การรับฟังเสียงพูดของมนุษย์การอ่านจับใจความ และการแปลภาษา ฯลฯ

“เราให้นำ้หนักเรื่องเอไอในตลาดไทยอย่างมาก โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรจะสามารถปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่วนของไมโครซอฟท์ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาผสมผสานไปกับทุกบริการที่นำเสนอออกไป อนาคตมีความเป็นไปได้ว่าจะเข้ามาตั้งแลปเอไอในไทยด้วย”

เขาเผยว่า งานที่ได้เห็นในเฟสแรกๆ ประกอบด้วยเรื่องภาษา เตรียมเปิดตัวบริการสปีช-ทู-เท็กซ์วันที่ 24 ก.ย.นี้ พร้อมสร้างร่วมมือกับนักพัฒนาท้องถิ่น รวมไปถึงผลักดันให้เกิดการสร้างกรอบหรือหลักเกณฑ์การใช้งานเอไอ เนื่องจากทุกวันนี้มักพูดกันแต่เรื่องการนำมาใช้ ยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องจริยธรรมที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยข้อมูล การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเท่าที่ควร

ขณะที่ ความร่วมมือระดับประเทศ เตรียมสานต่อความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เช่นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล โดยจะไม่จำกัดเพียงแค่เด็กเยาวชน แต่พยายามทำให้ครอบคลุมคนหลากหลายอาชีพ ผลักดันให้คนไทยมีทักษะความรู้ความเชี่ยวชายด้านโค้ดดิ้ง หรือ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงวิทยาศาสตร์ข้อมูล

นอกจากนี้ เปิดกว้างที่จะทำงานร่วมกับผู้ให้บริการอื่นๆ ด้วยแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง สามารถนำไปต่อยอดได้อย่างหลากหลาย ที่ขาดไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยข้อมูลบนไซเบอร์ เชื่อมโยงไปถึงกฎการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป(จีดีพีอาร์) เพราะหากถูกโจมตีย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียชื่อเสียงที่สั่งสมมาเป็น 10 ปี 100 ปี

ไมโครซอฟท์เชื่อว่า โลกของเราขณะนี้อยู่ในยุคแห่งอัจฉริยภาพของเทคโนโลยีคลาวด์ที่ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงถึงกัน(Intelligent Cloud and Intelligent Edge)

ดังนั้นสะท้อนออกมาเป็น 3 จุดมุ่งหมายสำคัญที่ขับเคลื่อนการทำธุรกิจของบริษัท ประกอบด้วย 1.People-centered experiences การสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ยึดความต้องการของผู้ใช้เป็นสำคัญ โดยที่สามารถใช้งานได้อย่างราบรื่นบนทุกดีไวซ์ คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้กับบุคคลที่ต้องติดต่อสื่อสารหรือทำงานด้วยในแต่ละวัน

2.เอไอ การพัฒนานวัตกรรมที่ผลักดันให้มนุษย์มีศักยภาพสูงขึ้น ทั้งในการทำงานและในชีวิตประจำวัน เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงศักยภาพนี้อย่างเท่าเทียมกัน และ 3.Ubiquitous computing การขยายศักยภาพอัจฉริยะของเทคโนโลยีให้สามารถใช้งานได้จากทุกที่ด้วยคุณสมบัติในการคิดวิเคราะห์จากข้อมูล ที่ทำได้ทั้งบนคลาวด์และในอุปกรณ์ปลายทาง

อย่างไรก็ดี ปีงบประมาณ 2561 เดือนก.ค.2560-มิ.ย.2561 ธุรกิจไมโครซอฟท์ประเทศไทยเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริการคลาวด์เติบโต 48%, ไมโครซอฟท์ อาชัวร์ 124%, โมเดิร์นเวิร์คเพลส 31%, ไดนามิคส์ 365 ระบบอีอาร์พีและซีอาร์เอ็มบนคลาวด์ 535%, เซอร์เฟซ 40%