เฝ้าระวัง 2 เขื่อนใหญ่ 27 เขื่อนกลาง มีน้ำเกิน 100%  

เฝ้าระวัง 2 เขื่อนใหญ่ 27 เขื่อนกลาง มีน้ำเกิน 100%  

"ศูนย์เฉพาะกิจฯ" ชี้พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม 19 จว.ทั้ง เหนือ อีสาน ใต้ จับตาจ.น่าน แม่ฮ่องสอน ฝนสะสม 24 ชั่วโมงสูงกว่า 100 มม.เฝ้าระวัง 2 เขื่อนใหญ่ 27 เขื่อนกลาง มีน้ำเกิน 100%  

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ ว่ายังเฝ้าระวังและติดตามปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำฯ  ที่ความจุเกิน 100%  มีขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน 108% เขื่อนแก่งกระจาน 106% ขนาดกลาง 27 แห่ง ขณะที่อ่างเฝ้าระวัง 80-100% ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ 89% เขื่อนวชิราลงกรณ 91% เขื่อนรัชชประภา 87% เขื่อนขุนด่านปราการชล 87% เขื่อนปราณบุรี 82%  ขนาดกลาง 53 แห่ง

 

ขณะที่พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วม ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี 5 อำเภอ ได้แก่ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำนครนายก แม่น้ำยัง ที่อ. เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีระดับสูงกว่าระดับตลิ่งแล้ว​ 

 

สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 19 จังหวัดภาคเหนือ เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อุบลราชธานี ภาคตะวันตก กาญจนบุรี ภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง และพังงา  โดย 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักมาก

โดยภาคเหนือปริมาณฝนสูงสุดที่ จ.น่าน 133.0 มม. แม่ฮ่องสอน 129.5 มม. ลำพูน 88.5 มม. เชียงราย 84.5 มม. พะเยา 69.0 มม. ลำปาง 59.5 มม. ตามลำดับ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี 55.0 มม. หนองคาย 52.2 มม. และ ภาคใต้ จ.ระนอง 92.5 มม. 

 

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ล่าสุดปริมาณน้ำในอ่างฯลดลงเหลือ 755 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 106 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำที่ระบาย 166 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มระดับน้ำในเขื่อนและท้ายเขื่อนแก่งกระจานลดลง ส่วนที่เขื่อนเพชร กรมชลประทาน ได้ผันน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเข้าระบบชลประทานทั้ง 4 สาย รวมกัน 83 ลบ.ม./วินาที เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล ส่วนที่เหลือจะควบคุมให้ไหลผ่านเขื่อนเพชรลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ในอัตราประมาณ 134  ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะไหลผ่าน อ.ท่ายาง และ อ.บ้านลาด ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่ง และมีแนวโน้มลดลงตลอดลุ่มน้ำ

 

สำหรับพื้นที่เขตเมืองเพชรบุรี มีน้ำผุดลอดจากท่อระบายน้ำ ไหลเข้าท่วมชุมชนเมืองและถนนเมืองเพชรบุรี จำนวน 6 จุด ประมาณไม่เกินเที่ยงวันนี้(25 ส.ค.)น้ำจะแห้งเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติต่อไป

 

ทั้งนี้ได้ใช้เครื่องสูบน้ำ 31 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 38 เครื่อง และของกองทัพเรืออีก 26 ลำ เพื่อช่วยผลักดันน้ำอีกทั้ง ยังได้นำรถแบ็คโฮเสริมคันตลิ่งแม่น้ำเพชรบุรี และขุดลอกคลองระบายน้ำและเปิดทางน้ำในลำน้ำสาขาย่อยต่าง ๆ ให้น้ำไหลได้สะดวก รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องไฮโดรโฟร์จำนวน 5 เครื่อง บริเวณห้วยยางและคลองกะลาตาย ช่วยเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุดด้วย