พม.แจงแนวทางการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงที่ถูกทอดทิ้ง

พม.แจงแนวทางการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงที่ถูกทอดทิ้ง

พม. แถลงแจงแนวทางการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงที่ถูกทอดทิ้ง และเตรียมจัดงานมหกรรมสร้างสรรค์พลังบวกในเด็กและเยาวชนป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (DJ TEEN) 26 ส.ค. นี้

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 61 เวลา 11.00 น. ที่บริเวณโถง ชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นางสุภัชชา สุทธิพล โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการแถลงผลการดำเนินงานตามภารกิจสำคัญของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้แก่ 1) ประเด็นแจงแนวทางการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงที่ถูกทอดทิ้ง โดย นางสุภัชชา สุทธิพล โฆษกกระทรวง พม. 2) การจัดงานมหกรรมสร้างสรรค์พลังบวกในเด็กและเยาวชนป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (DJ TEEN) โดย นางนันทา ไวคกุล ผอ.กลุ่มการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.)

จากกรณีที่มีการเสนอข่าวชายอายุ 41 ปี ที่เป็นผู้ป่วยเรื้อรังถูกสถานเลี้ยงดูเอกชนแห่งหนึ่งที่จังหวัดปทุมธานี ทำร้ายร่างกาย และนำมาทิ้งไว้ที่บริเวณศาลาริมทางหน้าวัดลำพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นั้น ล่าสุด นางรุ่งทิวา สุดแดน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปทุมธานี (พมจ.ปทุมธานี) พร้อมด้วยนายอุเทน ชนะกุล ผู้ปกครองสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดปทุมธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว พบว่า สถานเลี้ยงดูเอกชนดังกล่าว เป็นองค์กรเอกชนที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอและรับรองให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง และผู้ติดเชื้อ HIV โดยมีบุคลากร และจิตอาสาดูแล ตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบันมีผู้เข้ารับบริการจำนวน 42 ราย แบ่งเป็นชายจำนวน 34 ราย หญิงจำนวน 8 ราย ซึ่งแต่ละรายเป็นผู้ป่วยติดเตียงทั้งหมด

กรณีของชายอายุ 41 ปี ดังกล่าว สามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ไม่ประสงค์อยู่ที่สถานเลี้ยงดูแห่งนี้ทางผู้ดูแลจึงนำชายดังกล่าวไปส่งที่ศาลาที่พักผู้โดยสาร และจากการสอบข้อเท็จจริงพี่สาวของชายดังกล่าว แจ้งว่าปกติได้ส่งเงินให้สถานเลี้ยงดูเอกชนดังกล่าว เดือนละ 3,000 บาท แต่ในเดือนสิงหาคม 2561 ได้ส่งเงินช้า จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งในขณะนี้พี่สาวได้นำชายดังกล่าว ไปพักอาศัยที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง ที่จังหวัดชลบุรี เรียบร้อยแล้ว

สำหรับการประสานส่งผู้ป่วยติดเตียงไปยังสถานเลี้ยงดูแห่งนี้ โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ขอความร่วมมือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพฯ ร่วมส่งผู้ป่วยติดเตียงที่สิ้นสุดการรักษาจากโรงพยาบาลไปยังสถานเลี้ยงดูแห่งนี้ มีจำนวน 4 ราย อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานของสถานเลี้ยงดังกล่าว ดังนี้ 1) ควรมีการจัดสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสม และถูกสุขลักษณะต่อการดูแลผู้ป่วยในการจัดบริการ โดยประสานสาธารณสุขให้คำแนะนำ รวมทั้งดูแลเรื่องการจัดบริการให้มีมาตรฐานมากขึ้น และ 2) ควรยื่นคำขอและการรับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ กับสำนักงานส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กระทรวง พม. เพื่อให้สามารถขอรับการสนับสนุนด้านการเงิน หรือด้านอื่นๆจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม

สำหรับการให้บริการผู้ป่วยติดเตียง ของหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. นั้น โดยกรณีมีผู้ป่วยที่สิ้นสุดการรักษาจากโรงพยาบาล หากเป็นผู้ป่วยติดเตียงช่วยเหลือตนเองได้น้อย จะไม่สามารถรับเข้าคุ้มครองในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการดูแล ทั้งอาคารสถานที่ สภาพแวดล้อม ตลอดจนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยและต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง มีผู้รับบริการส่วนใหญ่มีอาการทางจิตเวช และเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้รับบริการ จึงไม่สามารถรับผู้ป่วยติดเตียงไว้ในความดูแลของหน่วยงานได้ จำเป็นต้องประสานหาสถานที่ หรือองค์ที่มีความเหมาะสมในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่สิ้นสุดการรักษาจากโรงพยาบาล ทั้งนี้ ควรผลักดันเชิงนโยบายในการบูรณาการทำงานร่วมกัน และจัดหางบประมาณในการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการคุ้มครองดูแลกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยไร้ญาติ ที่สิ้นสุดการรักษาจากโรงพยาบาล

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยประกาศใช้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 และยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560 -2569 เพื่อเป็นการบูรณาการการขับเคลื่อนงานร่วมกับ 5 กระทรวงหลัก ได้แก่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการป้องกันแก้ไขและเฝ้าระวังปัญหาดังกล่าว ซึ่งกระทรวง พม. เป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนงานตามพระราชบัญญัติ ในมาตรา 9 และยุทธศาสตร์ที่ 4 โดยสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในการป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในท้องถิ่นของตนเอง พร้อมทั้งการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับแม่วัยรุ่นและครอบครัวในชุมชน ซึ่งกระทรวง พม. ได้สนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN จังหวัด 77 จังหวัด เครือข่ายเด็กและเยาวชน DJ TEEN ตำบล 385 ตำบล เพื่อสื่อสารรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนมีความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศและทักษะชีวิตในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว ชุมชน มีทัศนคติเรื่องเพศเชิงบวก สามารถสื่อสารกับบุตรหลานได้อย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงถึงพลังสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จึงได้เตรียมจัดมหกรรมพลังบวกในเด็กและเยาวชนป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่เครือข่ายเด็กและเยาวชนDJ TEEN และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ในวันที่ 26 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมอะเดรียติคพาเลซ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ