ศาลชี้ชะตา ‘ทักษิณ’ คดีทีพีไอ 29 ส.ค.นี้

ศาลชี้ชะตา ‘ทักษิณ’ คดีทีพีไอ 29 ส.ค.นี้

ศาลฎีกานักการเมือง นัดฟังคำพิพากษา คดี "ทักษิณ" ให้คลังเข้าบริหารแผนฟื้นฟู "ทีพีไอ" 29 ส.ค.นี้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ส.ค.61 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน คดีหมายเลขดำ อม. 40/2561 นัดไต่สวนพยานโจทก์นัดสุดท้าย ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีนายทักษิณ ให้ความเห็นชอบกระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน จึงเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2546 มาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ

โดย ป.ป.ช. โจทก์ ได้นำพยานเข้าไต่สวนจนเสร็จสิ้นแล้ว ฝ่ายนายทักษิณ จำเลย ซึ่งศาลออกหมายจับไว้แล้วเพราะมีพฤติการณ์หลบหนีคดีไม่มาศาล และไม่ได้แต่งตั้งทนายความเพื่อร่วมกระบวนพิจารณาแทนในการนำพยานเข้าไต่สวนแก้ต่างคดี

ซึ่งหลังจาก ป.ป.ช. ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 พ.ค.61 ที่ผ่านมา ศาลได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ( วิ อม.) พ.ศ.2560 มาตรา 27 ที่ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษา โดยให้สำเนาคำฟ้องส่งให้จำเลยและปิดหมายแจ้งจำเลยทราบตามที่อยู่ในฟ้อง (บ้านพักย่านจรัญสนิทวงศ์) ซึ่งให้การปิดหมายมีผลทันที ตาม วิ อม.มาตรา 19 และในนัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลย ในวันที่ 22 มิ.ย. นายทักษิณ ก็ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดีองค์คณะฯ ก็พิจารณาออกหมายจับให้ติดตามตัวมาดำเนินคดี ตาม วิ อม. แล้วเมื่อออกหมายจับไปแล้ว 3 เดือน ก็ยังไม่ได้ตัวจำเลย องค์คณะฯ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 28 วรรคสอง ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย (ดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังจำเลย) แต่ไม่ตัดสิทธิที่จำเลยจะแต่งตั้งทนายความดำเนินการแทน ซึ่งนายทักษิณ จำเลย ก็ไม่ได้แต่งตั้งทนายความ และตาม วิ อม. มาตรา 33 วรรคสาม เมื่อปรากฏว่าจําเลยไม่ได้มาศาลในวันพิจารณาครั้งแรกไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ถือว่าจําเลยให้การปฏิเสธ ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการไต่สวนพยานทั้งหมดของ ป.ป.ช.โจทก์แล้ว องค์คณะฯ จึงนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ ในวันที่ 29 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 16 ก.ค.53 ชี้มูลความผิดอาญา นายทักษิณ และได้ยื่นฟ้องคดีเองเมื่อวันที่ 7 พ.ค.61 ที่ได้นำคำฟ้อง ประกอบเอกสารหลักฐาน 21 กล่อง 120 แฟ้มให้ศาลพิจารณาคดีตาม วิ อม.ใหม่ โดยไม่มีตัวจำเลยเนื่องจากหนีคดีไปพำนักอยู่มนหลายประเทศ ขณะที่ชั้นตรวจพยานหลักฐาน ป.ป.ช. โจทก์ เสนอให้ศาลไต่สวนพยานบุคคลทั้งหมด 6 ปาก ซึ่งศาลกำหนดนัดไต่สวนพยานไว้รวม 3 นัด ในวันที่ 10 , 14 และ 21 ส.ค.นี้

โดยนี้ ถือเป็นคดีที่ 7 ของนายทักษิณ ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ตัดสินแล้ว 2 คดีซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก-ยึดทรัพย์กว่า 4.6 หมื่นล้าน รอพิจารณาลับหลัง 4 คดี) หลังจากมีการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลนายทักษิณ เมื่อปี 2549 ขณะที่เมื่อมีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 หรือ วิ อม.ใหม่ แทน ก.ม.เดิมปี 2542 ที่ให้ศาลสามารถใช้อำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาได้โดยไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลยได้หลังจากออกหมายจับแล้วยังไม่ได้ตัวมานั้น คดีนี้ถือเป็นสำนวนแรกที่จะมีการอ่านคำพิพากษา หลังจากดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยแล้วตาม วิ อม.ใหม่

สำหรับองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนคดีนี้ ประกอบด้วย นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกา , นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฏีกา , นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฏีกา , นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง รองประธานศาลฏีกา , นายพรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว รองประธานศาลฏีกา , นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา , นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา , นายสุนทร ทรงฤกษ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา และนายชัยยุทธ ศรีจำนงค์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา

ส่วน 4 คดีที่เหลือรอพิจารณาลับหลัง ประกอบด้วย 1.คดีอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องกรณีกล่าวหาแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพาสามิต ด้วยการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต ( พ.ศ.2527) พ.ศ.2546 เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท 2.คดีอัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง กรณีกล่าวหาร่วมกับอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปล่อยกู้ให้กลุ่มกฤษดามหานครโดยทุจริต 3.คดี ป.ป.ช. ยื่นฟ้องเอง กรณีกล่าวหาปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท เอื้อประโยชน์ธุรกิจกลุ่มชินคอร์ปฯ และ 4.คดี ป.ป.ช. ยื่นฟ้องเอง กรณีกล่าวหา ร่วมกลุ่มรัฐมนตรีในรัฐบาลดำเนินโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ซึ่งทุกสำนวนศาลฎีกาฯ ได้ออกหมายจับไว้แล้ว เนื่องจากนายทักษิณหลบหนีคดีในต่างประเทศ