หอการค้าภาคใต้ พอใจที่ประชุมพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ที่ชุมพร

หอการค้าภาคใต้ พอใจที่ประชุมพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ที่ชุมพร

หอการค้าภาคใต้พอใจที่ประชุมพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ที่ชุมพร รับข้อเสนอโครงการพัฒนาภาคใต้กว่า 2 แสนล้านบาท นายกฯ สอบถามรายละเอียด พร้อมให้จัดความสำคัญโครงการ เริ่มจัดงบปี 63 เร่งโครงการทางคู่เชื่อมอันดามัน – อ่าวไทย

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย หอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการประชุม การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา) และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล)ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ จ.ชุมพร วันนี้ (21 ส.ค.) ว่าที่ประชุมฯเห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาภาคใต้รวม 4 ด้าน ได้แก่

ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อสนับสนุนการค้า อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ด้านการท่องเที่ยว ด้านการยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต และด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยข้อเสนอของภาคเอกชนทั้งหมดวงเงินรวมประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยที่ประชุมฯเห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่อไป

สำหรับโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่ภาคเอกชน ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา ประกอบไปด้วย โครงการรถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมชายฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย 2 โครงการได้แก่ รถไฟทางคู่สายสุราษฎร์ธานี – ดอนศักดิ์ วงเงิน 11000 ล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่สุราษฎร์ธานี – ท่านุ่น วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท โครงการปรับปรุงท่าเรือระนอง เพื่อรองรับการขนส่งทางน้ำไปยังภูมิภาคBIMSTEC ซึ่งสามารถสนับสนุนการขนส่งทั้งภาคใต้และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในอนาคต วงเงิน 5000 ล้านบาท รวมทั้งได้มีการเสนอให้มีการศึกษาการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพรเพื่อสนับสนุนการขนส่งในพื้นที่อ่าวไทยด้วย


สำหรับโครงการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภาคเอกชนสนับสนุนโครงการสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเลหรือไทยแลนด์ริเวียร่า เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลจากประจวบคีรีขันธ์ไปยังทะเลสาบสงขลา ส่วนการส่งเสริมสินค้าเกษตรได้สนับสนุนให้มีการสร้าง Oil Palm City เพื่อส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน โดยมีเป้าหมายในระยะยาวให้มีการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของพื้นที่ภาคใต้จาก 12% ของจีดีพีทั้งประเทศให้เป็น 15% ของประเทศในอนาคต

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมากในโครงการที่เอกชนมีการเสนอไป และมีการซักถามทุกโครงการ โดยใช้เวลาในการประชุมกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง นายกรัฐมนตรีได้บอกด้วยว่าโครงการภาคใต้มีมากมาย ทำไมที่ผ่านมายังไม่ได้รับการผลักดัน โดยรัฐบาลรับข้อเสนอในทุกโครงการและจะเริ่มจัดสรรงบประมาณในโครงการสำคัญโดยเฉพาะระบบรางตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป”นายวัฒนากล่าว