ชำแหละ! กองทุนพลังงานหมื่นล้าน 'สนพ.' หัวหมู่ทะลวงฟัน

ชำแหละ! กองทุนพลังงานหมื่นล้าน 'สนพ.' หัวหมู่ทะลวงฟัน

"..แต่ละโครงการที่เวียนเทียนอยู่เพียงไม่กี่กลุ่มโครงการแล้วทั้ง 2 บริษัทกับผู้ที่อยู่ในขบวนการได้รับเงินส่วนนี้มากกว่า 2-3 พันล้านบาท ในระยะเวลาประมาณ 20 ปี.."

แม้ภารกิจหลัก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ระบุไว้ให้บริหารจัดการเงินกองทุนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้การศึกษา วิจัยพัฒนา และทรัพยากรมนุษย์มีความก้าวหน้า ทว่ายังมีกลุ่มคนที่หาช่องทางและวิธีการเข้าไปหาผลประโยชน์ของส่วนรวม มาเป็นผลประโยชน์ของพรรคพวกตน วันนี้ยิ่งหนักข้อ แอบอ้างผู้ใหญ่ของบ้านเมือง บั่นทอนจิตใจผู้ประกอบการที่ทำมาหากินสุจริต

คนกลุ่มนี้เสมือนเสือนอนกินมากว่า 20 ปี ระหว่างทางมีความพยายามสร้างกลไกป้องการทุจริตแต่ก็ไม่ได้ผล การรวมตัวของข้าราชการอดีตข้าราชการและบริษัทเอกชน ผนึกกำลังกันผูกขาด ชิกแซกหลบหลีกการตรวจสอบได้ตลอดเวลา ขนาดปี 2560 ที่ผ่านมา รัฐบาล
ดำริให้จัดตั้งสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อแยกอำนาจการพิจารณาจัดสรรงบประมาณออกมาจากฝ่ายนโยบายคือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พร้อมตั้งอนุกรรมการเป็นผู้กลั่นกรองโครงการ หวังจะให้การจัดสรรงบประมาณปีละหมื่นล้านบาท ถูกต้องและเป็นธรรม ก็ไม่อาจยับยั้งได้

ว่ากันว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงใน สนพ. เป็นหัวหน้าทีม คิดและทำเสมือน สนพ. เป็นเจ้าของเงินกองทุน ผู้ที่ได้รับการจัดสรรงบจากกองทุนจึงเป็นรายเดิม ผ่านขั้นตอนการจัดการอย่างเป็นขบวนการ บางโครงการมีตอบแทนกลับมาอย่างน้อย 20%

อ้างใกล้Œเลือกตั้งหางบการเมือง

วันที่ 19 ก.ค.2561 มีการประชุมคณะอนุกรรมการกองทุนอนุรักษ์ มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน วาระการจัดสรรงบประมาณกองทุนประจำปี 2561 (เพิ่มเติม) ภายใต้กลุ่มโครงการไทยนิยมยั่งยืน วงเงิน 5,200 ล้านบาทที่ยังค้างท่อ มีการกำชับให้คณะอนุกรรมการเร่งรัดดำเนินการด้วยความโปร่งใส

เมื่อประธานจะปิดวาระประชุม ปรากฏว่า นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผน (ผอ.สนพ.) ขอโอนการจัดสรร
โครงการไทยนิยมยั่งยืน และขอเปิดประเด็นพิจาณางบประมาณประจำปี 2562 ทั้งๆ ที่ไม่มีบรรจุในวาระ พร้อมเสนอให้นายธนธัช
จังพานิช ผู้จัดการสำนักบริหารกองทุนมอบอำนาจให้ สนพ.ดำเนินการแทน

ต่อมาวันที่ 21 ก.ค. มีการกดดันโดยสนพ.ทำหนังสือให้นายธนธัช ลงนามประกาศขัดแย้งตามระเบียบว่าด้วยการบริหารเงินกองทุนเพื่อการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2560 ตามคำสั่ง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ทว่าในที่สุดก็ลงนามตามที่ สนพ. ต้องการ

นอกจากนี้ ยังส่งสัญญาณเหตุผลของการเร่งรัดเรื่องดังกล่าวว่าใกล้ถึงปีงบประมาณในเดือน ต.ค.นี้ ประกอบกับจะเข้าสู่ฤดูเลือกตั้ง ฝ่ายการเมืองจำเป็นต้องมีเสบียง

แฉออกแบบวางขบวนการ

ขั้นตอนการดึงเงินกองทุนออกมา เริ่มจากตั้งบริษัทขึ้นมารับงานบริหารโครงการเพื่อพิจารณาเอกสาร และทำงานธุรการ โดยจ้างพนักงาน 10-20 คน มาทำงานประจำกองทุนอนุรักษ์พลังงานเสมือนหนึ่งเป็นข้าราชการ ส่วนนอกกระทรวงก็ได้มีการจัดตั้งบริษัทตั้งแต่ปี 2540 ขณะนั้นชื่อ บริษัท อ.1 จำกัด ทำหน้าที่ที่ปรึกษากองทุน ก่อนจะตั้งบริษัทใหม่อีกแห่งขึ้นมาในภายหลังชื่อ บริษัท อ.2 จำกัด โดยมีอดีตข้าราชการ สนพ. ชื่อย่อ ส. 2 คน เป็นกรรมการ ตั้งเป็นที่ปรึกษาและดูแลเงินกองทุน โดยพนักงานบางส่วนโอนมาจาก บริษัท อ.1 โดย สนพ.จะใช้วิธีจ้างที่ปรึกษาด้วยวิธีพิเศษ นอกจากทำหน้าที่ประสานงานกับคนในกองทุนอนุรักษ์ฯ แล้วยังขึ้นตรงกับผู้บริหารระดับรอง ผอ. ที่มีความใกล้ชิดกับ ผอ.

1_22

สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ตกปีละ 20-30 ล้านบาท หากนับผลประโยชน์ค่าดำเนินการอีก 20% แต่ละโครงการที่เวียนเทียนอยู่เพียงไม่กี่กลุ่มโครงการแล้วทั้ง 2 บริษัทกับผู้ที่อยู่ในขบวนการได้รับเงินส่วนนี้มากกว่า 2-3 พันล้านบาท ในระยะเวลาประมาณ 20 ปี

“หลังจาก อ.2 คัดเลือกโครงการที่เสนอเข้ามาแล้วเสร็จ ก็จะส่งต่อมายังคณะอนุกรรมการ แต่เกือบทุกครั้งอนุกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ทำหน้าที่เพียงประทับตราตามที่ อ.2 เสนอมา แทบจะไม่เคยมีโครงการใดได้รับอนุมัติโดยตรงจากอนุกรรมการทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดเอาไว้” หนึ่งในคณะอนุกรรมการเล่าให้ฟัง

บางโครงการ บริษัท อ2.เข้าไปออกแบบจับมือให้เซ็นเอง เริ่มจากใช้สถาบันการศึกษาบังหน้า ทำเรื่องขอเงินกองทุน แบบนี้บริษัท อ.2 จะได้มากกว่า 20% ได้เงินแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือบางครั้งเอาชื่อมหาวิทยาลัยดัง น. ย่านรามคำแหง สวมหัวโขนรับงานบริหารโครงการประชาสัมพันธ์ปีละ 20 ล้านบาท มีการแจกจ่ายงานให้บริษัทประชาสัมพันธ์ในเครือทั้งที่ถือหุ้นและเป็นพันธมิตร 4-5 แห่ง อาทิ ซ. และ บ. บริษัทชื่อดังในวงการพีอาร์ ล่าสุดโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตรกำลังมีปัญหาร้องเรียนหลายพื้นที่ ภายใต้โรดแมพและบรรยากาศทางการเมืองปี่กลองเชิดว่าปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง

แน่นอน ทำให้หัวหน้าส่วนราชการ บุคคลใกล้ชิดและแวดล้อมผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มักจะถูกนำไปแอบอ้างในการหาผลประโยชน์ หวังว่ารัฐบาล คสช.จะเข้มงวดจริงจังกับการปราบคอร์รัปชัน หากได้กลิ่นการทุจริตโดยเฉพาะในแวดวงราชการ คงไม่รีรอที่จะเข้าไปกวาดล้าง คนไทยจึงต้องช่วยกันจับตาการจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานในงบปี62 วงเงินไม่มากนักแค่ 10,000 ล้านบาท!

"ทวารัฐ" ยันกองทุนอนุรักษ์พลังงานโปร่งใส

นายทวารัฐ สูตะบุตร ชี้แจงกรณีใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของคณะอนุกรรมการกองทุนอนุรักษ์พลังงานว่า สนพ. เข้าไปช่วยการดำเนินงาน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ เพราะมีทั้งงบปี 2561 เพิ่มเติมและงบปี 2562 ต้องแบ่งการทำงานเป็น 2 ทีม อีกทั้งระเบียบกองทุนฯ ได้ปรับใหม่และเริ่มใช้ในปี 2562 ทำให้งบประมาณปี 2561 ยังเป็นระเบียบเดิม ซึ่งการตัดสินใจจะต้องทันกับงบประมาณที่จะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค.2561

สำหรับปีงบประมาณใหม่ หลังสิ้นสุดระยะเวลากำหนดยื่นข้อเสนอมีหน่วยงาน ยื่นขอรับทุนทั้งหมด 343 หน่วยงาน รวม 956 โครงการ และไม่มีโครงการใดถูกตีตกลงไป

“ประเด็นว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามากลั่นกรองโครงการ ไม่เป็นความจริง แต่มีการว่าจ้างบริษัที่ปรึกษาเพื่อมาดำเนินงานธุรการติดตามโครงการเก่าที่อนุมัติแล้วไม่เกี่ยวข้องกับโครงการงบปี2561(เพิ่มเติม) และงบปี2562 สำนักบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) มีข้าราชการเพียง 12 คน ไม่สามารถพิจารณาโครงการเก่าที่มีอยู่ราว 400 โครงการใหม่อีกราว 1,000 โครงการ ได้ทันตามกำหนดจึงต้องมีทีมเข้ามาช่วยทำงาน ซึ่ง สนพ.ยืนยันว่ากระบวนการทั้งหมดโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้”