กรมชลฯวางแผนจัดการน้ำลุ่มน้ำยม ลดผลกระทบน้ำหลาก

กรมชลฯวางแผนจัดการน้ำลุ่มน้ำยม ลดผลกระทบน้ำหลาก

อธิบดีกรมชลประทาน เผยวางแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยม หลังได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุ “เบบินคา” (BEBINCA) คาดปริมาณน้ำในน้ำยมที่เมืองแพร่จะสูงสุดวันนี้ (20 ส.ค. 61) พร้อมวางแผนจัดการน้ำก่อนไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุ “เบบินคา” (BEBINCA) ส่งผลให้มีฝนตกหนักและตกชุกในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำยม บริเวณจ.แพร่ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่สถานีวัดน้ำ Y.20 อ.สอง จ.แพร่ มีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 1,350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม.) เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 61 และมีน้ำไหลผ่านฝายแม่ยมสูงสุด 1,116 ลบ.ม./วินาที ในวันเดียวกัน คาดว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำยม ที่ไหลผ่านบริเวณสถานี Y.1C บ.น้ำโค้ง อ.เมืองแพร่ จะอยู่สูงสุดประมาณ 900 ลบ.ม./วินาที ในช่วงเวลาประมาณ 10.00 น.วันนี้(20 ส.ค. 61) ก่อนที่จะไหลลงสู่สถานี Y.37 อ.วังชิ้น จ.แพร่ ที่คาดว่าปริมาณน้ำจะสูงสุดที่ 900 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 21 ส.ค. 61 ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานี Y.14 อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มีปริมาณน้ำสูงสุดประมาณ 850 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 22 ส.ค. 61

กรมชลประทาน ได้วางแผนมาตรการต่างๆ ไว้รองรับปริมาณน้ำในแม่น้ำยม ที่กำลังไหลหลากมาจากจ.แพร่ ลงสู่จ.สุโขทัยในระยะต่อไป ด้วยการลดระดับน้ำบริเวณหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ลงมาในระดับต่ำสุด ทำให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ประมาณ 8 – 10 ล้าน ลบ.ม. การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำในคลองยม-น่าน และแม่น้ำยมสายเก่า การพร่องน้ำในแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงลงมาในระดับต่ำสุด สามารถรองรับน้ำได้ 25 ล้าน ลบ.ม. การตรวจสอบความพร้อมพื้นที่เพาะปลูกในทุ่งบางระกำ พื้นที่ 382,000 ไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำ ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้วประมาณร้อยละ 90 ของพื้นที่ ที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นพื้นที่ดอน ไม่ได้รับผลกระทบจากการนำน้ำเข้าไปพักเก็บไว้ สำหรับแก้มลิงบึงขี้แร้ง บึงตะเคร็ง และบึงระมาน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณร้อยละ 50 ของความจุ สามารถรองรับปริมาณน้ำรวมกันได้ประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเครื่องจักรกลหนัก เครื่องสูบน้ำ ให้พร้อมปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา พร้อมกันนี้ ได้แจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำให้กับทางจังหวัดสุโขทัยทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

สำหรับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อตัวเมืองสุโขทัย นั้น กรมชลประทาน ได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยม โดยเมื่อปริมาณน้ำจากตอนบนไหลลงมาถึงบริเวณหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์(ปตร.) จะหน่วงน้ำไว้บริเวณหน้าปตร. และผันน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองยม-น่าน ผ่านทางประตูระบายน้ำหกบาท ก่อนจะผันน้ำลงแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยมสายเก่าในอัตรา 100 และ 150 ลบ.ม./วินาทีตามลำดับ พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านปตร.หาดสะพานจันทร์ ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 650 ลบ.ม./วินาที จากนั้น จะผันน้ำเข้าคลองเล็กทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำยม ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 150 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำส่วนหนึ่งจะถูกส่งเข้าคลองตาดินและคลองบางคลอง ไปเก็บกักไว้ใน ทุ่งทะเลหลวง รวมไปถึงแก้มลิงต่างๆที่ยังสามารถรับน้ำได้ ทั้งนี้ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย (สถานี Y.4) ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 550 ลบ.ม./วินาที โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัย

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้ร่วมกับจังหวัดสุโขทัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการทำงานร่วมกันในการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเขตเทศบาลเมืองสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็นแนวกำแพงป้องกันน้ำท่วม ที่อาจจะมีน้ำผุดลอดใต้กำแพง รวมไปถึงพื้นที่การเกษตรเสี่ยงน้ำท่วมในบริเวณแนวคันกั้นน้ำแม่น้ำยมสายเก่าและโรงพยาบาลสุโขทัย ซึ่งกรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเตรียมพร้อมระบายน้ำ หากเกิดน้ำท่วมขังในเขตชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่การเกษตร รวมทั้ง การเตรียมพร้อมเครื่องจักรกล เครื่องมือต่างๆ และเจ้าหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ภาพ-rid.go.th