ขั้วขัดแย้ง “เซ็น” VS.“ตำมั่ว” ผงาดแฟรนไชส์เอเชีย

ขั้วขัดแย้ง “เซ็น” VS.“ตำมั่ว” ผงาดแฟรนไชส์เอเชีย

ผ่าวิธีคิด..เมื่อขั้วขัดแย้งรวมร่าง กลายเป็นเนื้อคู่ตุนาหงัน “เซ็น”มือฉมังร้านอาหารญี่ปุ่น แต่งงานกับ ร้านอาหารไทยบ้านๆ“ตำมั่ว” กับแผนสยายปีกแฟรนไชส์บุกโลก ความต่างที่ลงตัว..เกิดขึ้นแล้ว !!   

การจับคู่กันของ 2 ธุรกิจร้านอาหาร เซ็น คอร์ปอเรชั่น” เจ้าของเชนร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ ประกอบด้วย เซ็น (Zen), มุฉะ(Musha),อากะ (Aka), ออน เดอะ เทเบิ้ล (On the table), เท็ตสึ (Tetsu) และซูชิชู แอนด์ คาร์นิวัล ยากินิกุ (Sushi Cyu & Carnival Yakiniku) ควบรวมกิจการ (M&A –Mergers and Acquisitions) เมื่อ พ.ค.2560 กับบริษัท เครซี่ สไปซี่ กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาแฟรนไชส์อาหารอีสาน 7 แบรนด์ ประกอบด้วย ตำมั่ว , ลาวญวณ, เฝอ, แจ่วฮ้อน , ข้าวมันไก่คุณย่า, ครัวไทย และเดอตำมั่ว

"ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจแบรนด์ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด เล่าถึงการจับคู่รวมธุรกิจผ่าน M&A ของสองธุรกิจว่า มีความแตกต่างกันสุดข้้ว จับตลาดคนละเซ็กเมนท์ ระหว่างเชนอาหารญี่ปุ่น“เซ็น” กับ เชนอาหารไทย-อีสาน “ตำมั่ว” โดยเป็นการรวมกันเพื่อสร้างความหลากหลาย (Diversify) สร้างความคุ้มทุนทางธุรกิจ พร้อมจะเดินทัพไปบุกตลาดโลกด้วยตัวเลือกหลากหลายในการเจาะทุกเซ็กเมนท์ในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกันทั้งรสนิยมและไลฟ์สไตล์

“เซ็น และ ตำมั่ว เป็นเหมือนเนื้อคู่ที่หากันจนเจอ มาเสริมทัพ ทำให้เราและเขาวิ่งได้เร็วและมั่นคงขึ้น” ธันยเชษฐ์ เปิดฉากถึงคู่พันธมิตรที่เป็นส่วนผสมลงตัว ที่ “เซ็น”ตามหามานาน

ต่างจากการเติบโตของเซ็นตลอดกว่า 27 ปีที่ผ่านมา (ปี 2534) ที่เน้นการเติบโตโดยการขยายสาขาด้วยตัวเอง” 

สาขาแรกของร้านอาหารเซ็น เปิดบริการในปี 2534 จนกระทั่งธุรกิจเติบโตคงที่ จึงแตกไลน์แบรนด์ เจาะตลาดหากลุ่มเซ็กเมนท์ใหม่เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่อง 

โดยในปี 2550 เปิดร้าน อากะ ร้านญ่ี่ปุ่นปิ้งย่าง สไตล์ ยากินิกุ ,ปี 2553 เปิดร้าน ออน เดอะ เทเบิ้ล ร้านอาหารญี่ปุ่นฟิวชั่น ไลฟ์สไตล์ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

ตามมาด้วย เท็ตสึ ร้านอาหารญี่ปุ่นปิ้งย่างระดับพรีเมี่ยม ,ปี 2560 เปิดตัวแบรนด์ใหม่ ซูชิชู แอนด์ คาร์นิวัล ยากินิกุ  ร้านอาหารญี่ปุ่นและร้านปิ้งย่างรวมกันในพรีเมี่ยมเกรด และปี 2561 เปิดตัว มุฉะ ร้านอาหารญี่ปุ่นราคาย่อมเยาว์ ต่ำกว่าเมนูละ 100 บาท เจาะระดับแมส

ผู้บริหารเซ็น ยังเท้าความถึงที่มาของการพบเจอของสองธุรกิจคนไทย ว่าเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา (ปลายปี 2559) ในวันที่เซ็นกำลังมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อพาตัวเองเติบโตก้าวกระโดดอีกครั้ง หลังธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในไทยเริ่มอิ่มตัว จากการแข่งขันสูง มูลค่าตลาดอาหารญี่ปุ่นมูลค่ารวม 2.5 หมื่นล้านบาท แต่ในอาเซียนยังมีโอกาสเติบโต

“ประมาณ 2 ปีที่แล้ว เซ็นกำลังมองหาโมเดลธุรกิจและโอกาสใหม่ที่จะเทคออฟธุรกิจ เราได้มีโอกาสคุยกับคุณเบสท์ (ศิรุวัฒน์) จากตำมั่ว จนได้เป็นพันธมิตร มีอาวุธมาเสริมทัพ เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ ให้เติบโตรวดเร็วและคล่องตัว” เขาเล่าถึงเบื้องหลังดีลข้ามขั้วธุรกิจ

“ธันยเชษฐ์” ไขความกระจ่างว่า โมเดลธุรกิจใหม่ของ เซ็น จะไม่มองตัวเองแค่ร้านอาหาร แต่จะผันตัวเองเป็น ธุรกิจบริการด้านอาหารแบบครบวงจร ฟู้ด เซอร์วิส หลังสะสมประสบการณ์ในธุรกิจอาหารมากกว่า 27 ปี  จึงมีอาหารหลากหลายแบรนด์ เจาะหลากหลายกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมอาหารญี่ปุ่น ทั้งเกรดเกรดพรีเมี่ยม ราคาสูงจนถึงราคาระดับต่ำกว่า 100 บาทอย่างมูฉะ อนาคตอาจจะมี ซูชิรถเข็นแฟรนไชส์” หรือ ร้านอาหารญี่ปุ่นข้างทาง” ก็เป็นไปได้ !  

เขายังบอกด้วยว่า ประสบการณ์ในธุรกิจที่ยาวนาน ทำให้เซ็นโดดเด่นในการสร้างแบรนด์ และมีระบบในการดูแลคุณภาพสินค้า เมื่อพัฒนาไปสู่ระบบแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่น

“เรามองว่าเรามีความสร้างสรรค์ (Creative) คิดแบรนด์ใหม่ๆ ที่เป็นของเราตลอดเวลา เพราะเราทำเอง แต่อาหารญี่ปุ่น ที่มีเชนในประเทศไทยร้านอื่น ต้องนำเข้าและซื้อแบรนด์มา จึงเป็นจุดแข็งทำให้เราพร้อมปรับเปลี่ยนได้ทุกด้าน เพื่อให้เหมาะกับ Local (ท้องถิ่น)ของแต่ละประเทศแบบไม่มีข้อจำกัด หากต้องการไปเปิดตลาด” เขาเล่าถึงแคแรคเตอร์ของธุรกิจที่ไม่ต่างกันกับตำมั่ว ร้านอาหารไทย-อีสาน บ้านๆ ที่แจ้งเกิดมากว่า 7 ปี จากป่าล้อมเมืองเติบโตในต่างจังหวัด ก่อนรุกมาสู่กรุง และขยายสู่ห้างโมเดิร์นเทรด จนปัจจุบันมีกว่า 150 สาขา จาก 7 แบรนด์ในเครือ

อังคณา นิลกำเหนิด ผู้อำนวยการธุรกิจแฟรนไชส์ มือขวาของ ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์”เจ้าของร้าน “ตำมั่ว” เล่าถึงการเข้ามาของเซ็นว่าจะเสริมจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็งของตำมั่ว จากกลุ่มธุรกิจเกิดมาจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เติบโตรวดเร็วในรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ จึงต้องการหลังบ้านด้านการบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพอย่างเซ็น เข้ามาช่วยจัดวางระบบเติมเต็มธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันได้รุกไปในกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว 3 ประเทศ 7 สาขา ประกอบด้วย ตำมั่ว ในลาว 2 สาขา กัมพูชา 1สาขา และเมียนมา 1 สาขา, เฝอ เปิดใน เมียนมา 2 สาขา และแจ่วฮ้อน เปิดในลาว 1 สาขา กำลังจะรุกไปในกลุ่มประเทศอื่นในอาเซียน รวมไปถึงการวางแผนรุกก้าวไปนอกอาเซียน จึงต้องการพันธมิตรที่แข็งแกร่งมาช่วยพาไป

“เราเกิดจากเอสเอ็มอี เติบโตเร็วมากแบบ Local จึงไม่สามารถสร้างหลังบ้านที่วางระบบและจัดการการเงินที่แข็งแรงได้ เซ็นจะเข้ามาช่วยในการพัฒนาหลังบ้าน” ผู้บริหารตำมั่ว เล่า

 ขณะที่ เซ็น ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารญี่ปุ่น กระโดดเข้ามาเล่นในตลาดอาหารไทย เพราะร้านอาหารไทยเติบโตทุกปี ทั้งในไทยและต่างประเทศ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงมูลค่าตลาดร้านอาหารไทยในปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 415,000 ล้านบาท ขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีละ 5%) 

สำหรับแนวทางการเติบโตโดยใช้แฟรนไชส์ “อังคณา” ระบุว่า เป็นรูปแบบการลงทุนที่น่าสนใจ โดยมูลค่าอาหารไทยแฟรนไชส์ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 5-6 หมื่นล้านบาท (1 ใน 4) จากธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งระบบที่มีมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาท

นี่จึงเป็นโอกาสในการเข้าไปแย่งชิงเค้กระดับแสนล้านบาท ที่ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทย แต่ยังสยายปีกไปปักธงในทุกประเทศทั่วโลก ในยุคที่ร้านอาหารไทยยังคงเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

ปัจจุบันเซ็นขยายธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นที่พัฒนาเชนขึ้นมาในรูปแบบที่เป็นโมเดลพร้อมปรับให้เข้ากับท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อรุกไปในอาเซียน โดยไปปักธงแล้วในเมียนมา ด้วยแบรนด์ อากะ และ ออน เดอะ เทเบิ้ล ในกัมพูชา 

โมเดลธุรกิจของเซ็นวันนี้กับ3ปีที่แล้วไม่เหมือนกัน จากมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง กลายเป็นโมเดลแฟรนไชส์ เธอย้ำ 

 ขณะที่การรวมกันทั้ง  2 ธุรกิจ ทำให้จำนวนสาขาเพิ่มเป็น 250 สาขา  รุกไปเปิดตลาดในต่างประเทศแล้ว 9 สาขา สำหรับเป้าหมายการขยายสาขารวมทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่ที่ 500-600 สาขาภายใน 5 ปี (ปี 2561-2565) แบ่งเป็นสาขาต่างประเทศ 50 สาขา กับเป้าหมายยอดขายรวมขึ้นไปแตะที่ 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท หรือเติบโตปีละ 25% จากเดิมเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%

วิสัยทัศน์เราอยากเป็นร้านอาหารไทย แฟรนไชส์ไทย ที่ขยายไปต่างประเทศ ถ้าใช้โมเดลเดิมเราก็เติบโตเพียงปีละ 10% แต่หากเราใช้แฟรนไชส์ และควบรวมพันธมิตรทำให้เราไปได้รวดเร็วขึ้นปีละ25-30%”

ขณะที่เทรนด์ร้านอาหารไทยที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เชื่อว่าการเติบโตในการขยายร้านอาหารไทยจะมีสัดส่วนสร้างรายได้ให้กับลุ่มธุรกิจเซ็นมากขึ้น  ประมาณ 40-50 % จากปัจจุบันสัดส่วนร้านอาหารไทย อยู่ที่ 20-30%

นี่คือ Passion (ความใฝ่ฝัน) ของทั้งสองธุรกิจที่สร้างโดยคนไทย คือการนำร้านอาหารแฟรนไชส์ไทยไปปักธงทั่วโลก จากปัจจุบันที่เราบริโภคแต่แฟรนไชส์ตะวันตก และต่างแดน ที่ดาหน้าเข้ามาเปิดสาขาในไทย กลายเป็นการคิดโมเดลย้อนศรนำร้านอาหารไทยรุกตลาดต่างประเทศบ้าง

---------------------------

ลูกเจ้าของร้านอาหารอีสาน สู่ผู้ปั้นแบรนด์ ตำมั่ว

ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ ลูกเจ้าของร้านอาหารอีสาน แม่น้อย ผู้ปั้นแบรนด์ตำมั่ว เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะใช้ระบบและหลังบ้านที่แข็งแรง รวมถึงและมาตรฐานของ เซ็น พาตำมั่วและเชนธุรกิจในเครือ เดินตามฝัน เสริมทัพร้านอาหารไทยไปเปิดในทุกประเทศทั่วโลก

“เราจะเติบโตไปเป็นพันสาขาได้ ไม่ใช่เดินไปคนเดียว ต้องมีเพื่อน มีระบบ และเงินทุน ซึ่งเซ็นมีจุดแข็งตรงนี้มาเสริมทัพ”

เขายังต้องการทำให้ร้านอาหารไทยมีมูลค่ามากกว่านี้ จากราคาอาหารเมนูเฉลี่ยที่ 25 บาท ปัจจุบันเพิ่มมูลค่าได้ถึง 200 บาท และน่าจะไปได้มากกว่านี้ เช่นเดียวกันกับแฟรนไชส์ต่างประเทศที่เข้ามาตีตลาดไทยอย่างขนมปัง แฮมเบอร์เกอร์ ที่ราคาขายแตะที่เมนูละกว่า 200 บาท

“ต้องการให้คนยอมรับอาหารไทย ไปประเทศไหนก็เจอแบรนด์นี้ ตอนนี้ไปในอาเซียนเกือบทุกประเทศ อยากไปออสเตรเลีย อเมริกา และยุโรป” เบสท์ให้สัมภาษณ์ถึงแพสชั่น ทำให้เขามองหาเพื่อนอย่างเซ็นวิ่งไปด้วยกันให้เร็ว

---------------------------

แพชชั่นผู้นำร้านอาหาร” แฟรนไชส์เอเชีย

ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิทรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจแบรนด์ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด กางแผนกลยุทธ์ร้านอาหารไทยไปปักธงต่างแดนด้วย 4 กลยุทธ์ ประกอบด้วย

1.ธุรกิจหลากหลาย (Diversify) มีตัวเลือก 13 แบรนด์ ที่เจาะหลากหลายเซ็กเมนท์ตั้งแต่ร้านอาหารไทยที่จะไปเจาะตลาดอาเซียน ซึ่งแต่ละแบรนด์จะสร้างสรรค์ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย (Segmentation) ตั้งแต่ระดับแมส ไปจนถึงพรีเมี่ยม ด้วยเบื้องหลังการคัดวัตถุดิบ(Sourcing) จากหลากหลายแหล่งทั่วโลก เพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

“กลุ่มธุรกิจอาหารญี่ปุ่น ไปได้ดีในตลาดอาเซียน เพราะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทย”

สำหรับ 13 แบรนด์ในเครือ เป็นกลุ่มอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ คือ ร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น ภัตตาคารญี่ปุ่นสำหรับครอบครัว โดดเด่นเรื่อง ปลา, อากะ (Aka) ร้านญ่ี่ปุ่นปิ้งย่าง สไตล์ยากินิกุ, ออน เดอะ เทเบิ้ล ร้านอาหารญี่ปุ่นฟิวชั่น ไลฟ์สไตล์ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

เท็ตสึ อาหารญี่ปุ่นปิ้งย่างระดับพรีเมี่ยม, ซูชิชู แอนด์ คาร์นิวัล ยากินิกุ ร้านอาหารญี่ปุ่นและร้านปิ้งย่างรวมกันในพรีเมี่ยมเกรด และ มุฉะ ร้านอาหารญี่ปุ่นราคาย่อมเยาว์ เจาะระดับแมส

ส่วนอาหารไทย มี7 แบรนด์ ประกอบด้วย ตำมั่ว ร้านอาหารไทยอีสานต้นตำรับ, ลาวญวณ ร้านอาหารไทยและเวียดนามสูตรดั้งเดิม, เฝอ ร้านก๋วยเตี้ยวสไตล์คลาสสิค, แจ่วฮ้อน จิ้มจุ่มหม้อไฟต้นตำรับ, ข้าวมันไก่คุณย่า ข้าวมันไก่สูตรโฮมเมด, ครัวไทย ร้านอาหารไทยสำหรับชาวไทยและต่างชาติ และเดอตำมั่ว ร้านอาหารไทยและไทยอีสานระดับพรีเมี่ยม 

2.สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง และสร้างการรับรู้ จุดแข็งที่จะขยายไปสู่แฟรนไชส์ โดยมีสาขาต้นแบบแต่ละแห่งนำร่อง โดยเฉพาะสาขาแฟรนไชส์ในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองที่มีต่างชาติ เช่น เซ็นทรัล เวิลด์ และเกสร พลาซ่า เป็นโชว์เคสร้านอาหารให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หนึ่งในนั้นอาจะเป็นสัดส่วนของกลุ่มนักลงทุน ผู้อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ (Investor) ที่สนใจเห็นโมเดลธุรกิจนำกลับไปพัฒนาแฟรนไชส์ต่อในประเทศ เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์ที่เกิดขึ้นในลาว ก็มาจากลูกค้าในร้านกลายเป็นผู้นำเข้าแฟรนไชส์ในลาว 

3.วางระบบ สร้างมาตรฐาน ควบคุมคุณภาพ พร้อมกันกับพัฒนานวัตกรรม ทั้งระบบหลังบ้านเพื่อให้ทุกเมนู รสชาติเท่ากันทุกร้าน รวมถึงการเตรียมการกระจายสินค้าโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนาแฟรนไชส์ในต่างประเทศ เมื่อมีคนสนใจเข้ามาซื้อแฟรนไชส์ ตลอดการการคิดเมนูใหม่ทุกไตรมาสละ 1-2 เมนู เป็นการสร้างนวัตกรรมไม่ไม่ให้แบรนด์หยุดนิ่ง ทำให้ลูกค้ารู้สึกได้รับคุณค่า และตื่นเต้น สนุกไปกับแบรนด์ตลอดเวลา

4.การอบรมคน ทั้งด้านพนักงาน และการพัฒนาระบบ สร้างความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพราะธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่มีการเทิร์นโอเวอร์สูง การรักษามาตรฐานไปพร้อมกันกับการรักษาคน ดูแลพนักงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพวกเขาเป็นกองทัพในการรุกในการขยายสาขาทั้งในไทยและต่างประเทศ

การขยายธุรกิจจะเน้นการพัฒนาแฟรนไชส์มากขึ้น เพราะเป็นวิธีการที่ทำให้ธุรกิจเติบโตขยายสาขาไปได้อย่างรวดเร็ว และการมีหลากหลายแบรนด์ก็ทำให้ตลาดกว้างขึ้น จากเดิมที่เข้าห้างสรรพสินค้าเพียงแบรนด์เดียวก็สามารถเข้าได้หลากหลายเพื่อเข้าถึงลูกค้าในแต่ละเซ็กเมนท์ที่แตกต่างกัน นี่คือข้อดีของการมีแบรนด์ถึง 13 แบรนด์

“ในยุคที่คนรุ่นใหม่คนเจนวาย ต้องการเป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น (Entrepreneurs) การขยายภายในประเทศ ผ่านเทรนด์เหล่านี้ก็ทำให้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้แฟรนไชส์ไปเร็วขึ้น รวมไปถึงการมีธุรกิจแฟรนไชส์ ถือว่าวินวินกับทั้งสองฝ่าย ลดความเสี่ยงไม่ต้องทำเองโดยซื้อแบรนด์ที่สำเร็จ ส่วนเจ้าของแบรนด์ก็ขยายได้เร็วขึ้น”

เขายังถึงเป้าหมายที่จะไปให้ถึงยอดขาย 1หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปีว่า มี 2วิธีการคือการขยายแฟรนไชส์จาก 13แบรนด์ที่มี ที่ตามเผนใช้เวลา 5 ปี โดยการลงทุนปีละ 250-300 ล้านบาท หรือ 1,500 ล้านบาทภายใน 5 ปี ตลอดจน การมีแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเร่งให้เติบโตได้เร็วกว่า 5 ปี รวมไปถึงการมองเห็นโอกาสเข้าไป M&A แบรนด์ใหม่ที่มีทั้งโอกาสและความน่าสนใจก็ทำให้ไต่ไปถึงเป้าหมายได้ติดสปีดก่อนกำหนด

ธันยเชษฐ์ ยังขยายความต่อถึงการวางกองทัพบุกต่างประเทศ โดยคอนเซ็ปต์แฟรนไชส์ไทย ที่พัฒนาแบรนด์ไปต่างประทเศ ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ที่ไปต่างประเทศแล้ว 9 สาขา ประกอบด้วย อากะ ไปในเมียนมา และกัมพูชา ส่วนออน เดอะ เทเบิ้ล อยู่ในเมียนมา ขณะที่ร้านอาหารไทย ฝั่งตำมั่ว ปัจจุบันรุกเข้าไปใน 3 ประเทศ 7 สาขา

ร้านอาหารไทยแฟรนไชส์ในเครือ โดยเฉพาะตำมั่ว แบรนด์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว วางเป้าหมายที่เริ่มขยายไปในกลุ่มธุรกิจ ในอาเซียนก่อน จากนี้จึงขยับไปในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง รวมไปถึงการข้ามทวีป ไปยังสหรัฐ ออสเตรเลีย รวมไปถึง ยุโรป เป็นสเต็ป

“การเข้าไปในจีน หากมีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่ง มีโอกาสที่จะขยายได้เพียงประเทศไทย 100 สาขาก็เป็นไปได้”

เป้าหมายสูงสุดที่ตั้งเป้าคือ เป็นผู้นำร้านอาหารด้านแฟรนไชส์ในเอเชีย (Leader of franchise Asia) ยังไม่มีคอนเซ็ปต์ร้านอาหารไทยขึ้นมาเป็นเจ้าตลาด ผู้นำที่เป็นเบอร์หนึ่งในปัจจุบันก็คือ เครือไมเนอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มร้านอาหารหลากหลาย ทั้งจานด่วน (ฟาสต์ฟู้ด) และร้านตะวันตก เป็นต้น

ไม่เพียงโอกาสของการพัฒนากลุ่มร้านอาหารไปในต่างประเทศ แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ที่เปิดขายเครื่องปรุง แบรนด์ ตำมั่ว” เป็นหนึ่งธุรกิจที่ส่งออกสินค้าภายใต้กลุ่มธุรกิจไปก่อน เพื่อให้เกิดการรับรู้และตอกย้ำแบรนด์ ในบางประเทศที่กฎระเบียบการเปิดร้านเข้มงวด ก่อนจะไปปักธงร้านอาหารไทย